โอกาสการค้าการลงทุนของภาคเอกชนไทยในโบลิเวีย

10 ต.ค. 2565 | 05:01 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2565 | 13:15 น.

ไทยมุ่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า-การลงทุนกับ "โบลิเวีย" ประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติในอเมริกาใต้ โดยไทยมีความชำนาญด้านการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม จึงสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนของโบลิเวียเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบของโบลิเวีย โดยเฉพาะ "ลิเทียม"

คณะผู้แทนจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา ได้เดินทางไปยังกรุงลาปาซ ประเทศโบลิเวีย เพื่อสำรวจ โอกาสการค้าการลงทุน สำหรับภาคเอกชนไทย และริเริ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมกับโบลิเวีย เมื่อเร็วๆนี้ (5 – 9 มิ.ย.) โดยการเจรจาได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนระดับสูง รวมถึงผู้ประกอบการในโบลิเวียที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวน 9 ราย ซึ่งรวมถึงบริษัทที่ผลิตคีนัวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากคีนัว กาแฟ ไวน์ ลิเทียม แร่ธาตุ ทองคำ ก๊าซธรรมชาติ และอาหารซุปเปอร์ฟู้ด ที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติระหว่างกัน ดังนี้

 

1. การนำเข้าลิเทียมจากโบลิเวีย

โบลิเวีย มีลิเทียมสำรองมากที่สุดในโลก แหล่งผลิตใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ที่ทะเลเกลือ Salar de Uyuni (Uyuni salt flats) โดยรัฐเป็นผู้บริหารจัดการ ดำเนินการ และจัดสรรเงินทุนร้อยละ 100 ซึ่งนักลงทุนต่างชาติสามารถร่วมทุนได้เฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงที่จำเป็นสำหรับการพัฒนา และการดำเนินโครงการในอุตสาหกรรมเฉพาะซึ่งเป็นที่ต้องการของโบลิเวีย

 

โดยภาคเอกชนไทยกับโบลิเวียอาจพิจารณาร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ดังนี้

 

(1) การผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบรีชาร์จได้ สำหรับการผลิตแล็ปท็อป สมาร์ทโฟน ยานยนต์ไฟฟ้า และแหล่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านอุสาหกรรมการผลิต EV ในภูมิภาคอาเซียน โดยอาจเริ่มจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับบริษัท Quantum ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโบลิเวีย

โบลิเวียมีลิเทียมสำรองมากที่สุดในโลก แหล่งผลิตใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ที่ทะเลเกลือ Salar de Uyuni

(2) การนำเข้าทรัพยากรแร่ธาตุของโบลิเวีย เช่น ทองคำ สังกะสี เหล็ก และเงิน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่โบลิเวียส่งออกไปยังหลายประเทศ รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีนและเกาหลีใต้

 

(3) ผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ซุปเปอร์ฟู้ด ซึ่งเป็นอาหารแห่งอนาคตและมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก โดยเฉพาะรอยัลคีนัว ซึ่งคาดว่าเป็นที่ต้องการของตลาดไทย ผนวกกับที่ไทยมีผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้า niche products มากขึ้น สังเกตจากกลุ่มคนรักสุขภาพซึ่งหันมาบริโภค กาแฟ ช็อคโกแลต ไวน์ ถั่วเหลืองและอนุพันธ์ ถั่วลิสง คีนัว เนื้อวัว และน้ำตาลกันมากขึ้น โดยภาคเอกชนอาจพิจารณาร่วมทุนกับโบลิเวียในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร

 

คีนัว (Quinoa) ธัญพืชซุปเปอร์ฟู้ด

นอกจากนี้ อุตสาหกรรม BCG จะเปิดโอกาสและเพิ่มพลวัตสำหรับความร่วมมือระหว่างไทยกับโบลิเวียซึ่งไม่จำกัดเฉพาะการค้าและการลงทุน เช่น ความร่วมมือด้านเทคนิค ความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาการท่องเที่ยวระดับชุมชน เช่น การปลูกรอยัลคีนัวในไทย เป็นต้น

 

2. การแลกเปลี่ยนทางการค้าและการลงทุนในธุรกิจประเภทปูนซีเมนต์

ภาครัฐไทยได้ต่อยอดโครงการสำรวจโอกาสการค้าการลงทุนฯ ระหว่างบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) จำกัด (มหาชน) กับ SOBOCE บริษัทผลิตซีเมนต์ที่สำคัญในโบลิเวีย (อยู่ภายใต้เครือธุรกิจ Grupo Gloria จากเปรู) โดยบริษัท SCG สนใจซื้อปูนซีเมนต์ 3 หมื่นตันจากบริษัท SOBOCE ผ่านท่าเรือ Matarani ในเปรู โดยจะเจรจารายละเอียดกันต่อไป

 

3. การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า FEXPOCRUZ

ภาครัฐไทยมีกำหนดการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า FEXPOCRUZ ณ เมืองซันตาครูซ ระหว่างวันที่ 15 - 18 กันยายน 2565 โดยอาจใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ในการสํารวจโอกาสการค้าการลงทุนสําหรับภาคเอกชนไทยเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีการจัดสัมมนาแบบออนไลน์ เพื่อเชื่อมโยงภาคเอกชนโบลิเวียกับไทย ผ่านสภาธุรกิจไทย – ลาตินอเมริกา โดยระหว่างการสัมมนาได้เชิญชวนผู้ประกอบการไทยให้เข้าร่วมงาน FEXPOCRUZ ดังกล่าวด้วย

 

อนึ่ง ไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) ควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มบนพื้นฐานของการใช้นวัตกรรม ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและโบลิเวีย ในการเพิ่มโอกาสด้านการลงทุนด้านการเชื่อมโยงในเขตเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) และการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ใน 12 สาขา

 

ทั้งนี้ ไทยมุ่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนแบบ two-way กับโบลิเวีย โดยไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม จึงสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนของโบลิเวียเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบของโบลิเวีย โดยเฉพาะลิเทียม เนื่องจากไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่แบบลิเทียมและ EV ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2573

 

คอลัมน์ชี้ช่องจากทีมทูต โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา