ชวนทำความรู้จัก Sharing Economy ไอเดีย "แชร์พนักงานบริษัท" ที่กำลังรุ่งในจีน

20 ก.ค. 2565 | 06:50 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2565 | 13:59 น.

เมืองหลิ่วโจว ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงซึ่งตั้งอยู่ทางภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ผุดไอเดีย "แชร์พนักงานบริษัท" ขึ้นเติมเต็ม "ช่องว่าง" ในตลาดแรงงาน ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ นับเป็นอีกรูปแบบของเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านเคยได้ยินหรือเริ่มคุ้นเคยกับนิยาม “เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ซึ่งเป็นนิยามใหม่ของการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการพึ่งพาและเติบโตไปด้วยกันระหว่างภาคธุรกิจกับสังคม แนวคิดการดำเนินธุรกิจที่เชื่อว่า ทุกคนสามารถนำสิ่งของ(เกือบ)ทุกสิ่งมาแบ่งปันกันได้

 

แม้แนวคิด “เศรษฐกิจแบ่งปัน” จะเริ่มต้นจากกลุ่มประเทศยุโรปตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีก่อน แต่แนวคิดดังกล่าวสะท้อนความสำเร็จและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในจีน เป็นค่านิยมและเป็นกรณีศึกษาให้แก่หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย

 

แนวคิดที่เชื่อว่าสามารถนำสิ่งของ(เกือบ)ทุกสิ่งมาแบ่งปันกันได้ในการทำธุรกิจ ได้พัฒนาและปรับตัวจนเป็นระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางสิ่งต้องถอยตัวออกจากตลาด ขณะที่บางสิ่งตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และดำรงอยู่ในตลาดจีน เช่น จักรยาน รถยนต์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า พาวเวอร์แบงก์

ขณะนี้ แนวคิดการแบ่งปันได้พัฒนาไปอีกขั้น โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ เมืองหลิ่วโจว ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงประสบความสำเร็จในการ ‘แชร์พนักงานบริษัท’ ระหว่างบริษัท 2 แห่ง เป็นครั้งแรกของเมือง ซึ่งช่วยเติมเต็มความต้องการแรงงานให้แก่กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับภาคธุรกิจอื่นด้วย

(ขอบคุณภาพจาก China Daily)

เรื่องราวการ ‘แชร์พนักงานบริษัท’ เกิดขึ้นระหว่างโรงงานผู้ผลิตน้ำตาล Liuxing Sugar Manufacturing ในเครือ Guangxi Sugar Group (广西糖业集团柳兴制糖有限公) กับโรงงานผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอะไหล่ Liuzhou Jinjing Electric Appliance Co., ltd. (柳州津晶电器有限公司) ได้ร่วมกันลงนามสัญญาการแบ่งปันพนักงาน โดยพนักงานกลุ่มแรกจำนวน 41 คนของโรงงานน้ำตาล Liuxing จะเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะก่อนเข้าทำงานที่โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า Jinjing โดยโรงงานน้ำตาล Liuxing วางแผนจะ ‘แชร์พนักงานบริษัท’ ให้อีก 200 คน

 

ต่อข้อสงสัยว่า การแบ่งปันพนักงานจะทำให้ธุรกิจของตนเองประสบปัญหาหรือไม่ หรือเป็นวิธีการปลดพนักงานหรือไม่นั้น พบว่าวิธีการดังกล่าว เป็นลักษณะจำเพาะของสายธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการระหว่างกัน กล่าวคือ ระหว่างช่วงเดือนเมษายน – ตุลาคมของทุกปีเป็นช่วงปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาล Liuxing ซึ่งพนักงานจะพักงานอยู่กับบ้าน แต่ในช่วงเดียวกันนี้ โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า Jinjing มีอัตราการผลิตสูง แต่ขาดแคลนพนักงาน ขณะที่เดือนตุลาคม – มีนาคมของปีถัดไป เป็นฤดูหีบอ้อยที่โรงงานน้ำตาลต้องการใช้แรงงาน ซึ่งโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมแบ่งปันพนักงานราว 100 คนไปทำงานที่โรงงานน้ำตาลเช่นกัน

ชวนทำความรู้จัก Sharing Economy ไอเดีย “แชร์พนักงานบริษัท” ในจีน (ขอบคุณภาพจาก Global Times)

นอกจากนี้ สำนักงานทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคมเมืองหลิ่วโจวได้พัฒนากลไกการทำงานเพื่อผลักดันและสร้างหลักประกันให้กับโมเดลการ ‘แชร์พนักงานบริษัท’ เพื่อสร้าง platform ในระดับเมืองที่มีความหลากหลายและครบวงจร เช่น การตั้งคณะทำงานย่อย ระหว่างหน่วยงานประกันสังคม อนุญาโตตุลาการ การจัดหางาน  การเปิดช่องทางพิเศษ หรือ Green Lane ในการไกล่เกลี่ยและคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ให้ทุกฝ่าย  และการประสานกับสำนักงานกิจการภาษีเพื่อสร้างเกราะป้องกันให้ธุรกิจสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในโลกธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

 

ศูนย์ BIC มองว่า พัฒนาการของเศรษฐกิจแบ่งปันในรูปแบบของการ ‘แชร์พนักงานบริษัท’ ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจดังตัวอย่างข้างต้นนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในแง่มุมของการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่สร้างประโยชน์สูงสุด ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการภาคธุรกิจแบบ win-win situation จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยที่สามารถนำไปต่อยอดและปรับใช้ได้

 

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ /ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง