ไอเดียเด็ดแซ่บจากเฉิงตู : ธุรกิจหม้อไฟบริการตัวเอง

03 เม.ย. 2565 | 13:44 น.
อัปเดตล่าสุด :03 เม.ย. 2565 | 20:59 น.

ไอเดียธุรกิจหม้อไฟแบบบริการตนเองในนครเฉิงตูกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก  นอกจากจะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการคืนกําไรให้ผู้บริโภคอีกด้วย  

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต

โดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู / ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com

- - - - - - - - - - -

ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรา ความสะดวกสบายแบบเลือกได้เอง จัดการได้เอง ได้ส่งผลให้ผู้บริโภคยอมรับ การบริการตนเอง มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะพบเห็นได้ในการค้า e-commerce แล้ว ยังพบเห็นได้จากธุรกิจร้านค้าทั่วไปอีกด้วย

 

วันนี้ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู ขอเชิญชวนผู้ประกอบการร้านอาหารชาวไทยไปดูไอเดียการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับการบริการตนเอง ที่ทำให้ win-win ทั้งสองฝ่าย ทั้งลูกค้าและร้านค้า

 

เมื่อไม่นานมานี้ที่ประเทศจีน มีธุรกิจแบบบริการตนเองเกิดขึ้นมากมาย เช่น ร้านสะดวกซื้อแบบบริการตนเอง ตู้จําหน่ายสินค้าที่มีหุ่นยนต์ส่งสินค้าอัจฉริยะ หรือร้านอาหารที่ให้บริการโดยหุ่นยนต์ และอีกหนึ่งการพัฒนาที่น่าสนใจ คือ “ธุรกิจหม้อไฟแบบบริการตนเอง

(ขอบคุณภาพจากไชน่า เดลี)

ยกตัวอย่าง Yangyucha ร้านอาหารหม้อไฟแบบบริการตนเองแห่งนี้ ตั้งอยู่ในเขตจนหนิว นครเฉิงตู มีไอเดียธุรกิจที่แตกต่างจากร้านอาหารหม้อไฟแบบดั้งเดิม โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้เป็นฝ่ายบริการตัวเองในทุกขั้นตอนตั้งแต่การหยิบจาน - หม้อ การเลือกอาหาร การชําระเงิน รวมไปจนถึงการเก็บกวาดโต๊ะหลังรับประทานเสร็จ

 

ขั้นตอนเข้าใช้บริการทำไงเหรอ?

  •  เมื่อลูกค้าเดินเข้าไปในร้าน จะมีเสียงแจ้งเตือนบริเวณประตู และคําอธิบายวิธีการให้บริการ
  • เสียงอัตโนมัติจะกล่าวว่า “ยินดีต้อนรับสู่ ร้านหม้อไฟแบบบริการตนเอง คุณลูกค้าสามารถสแกน QR Code ตรงตู้แช่เย็นเพื่อเปิดประตูและเลือกอาหารตามที่ต้องการ ระบบจะหักค่าอาหารอัตโนมัติเมื่อปิดประตูตู้เย็น”
  • เมื่อเดินเข้าไปในร้าน ภายในร้านมีพื้นที่ 60 ตร.ม. ประกอบด้วยโซนตู้อาหาร ที่มีป้ายบอกราคาและระบบคิดเงินอัตโนมัติ โซนหยิบจาน โซนหม้อ โซนน้ำจิ้ม และโซนเก็บจาน แต่ละโซนมีการติดป้ายอย่างชัดเจน ซึ่ง นอกจากจะเป็นบริการแปลกใหม่แบบเลือกได้เองสำหรับลูกค้าแล้ว  ข้อดีสำหรับร้าน Yangyucha แห่งนี้ คือไม่ต้องมีพนักงานคิดเงินและพนักงานเสิร์ฟ และช่วยให้ใช้พื้นที่น้อยลง ทําให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงาน และค่าเช่าพื้นที่ร้าน
  • ดังนั้น ร้านจึงสามารถกำหนดราคาอาหารได้ถูกลง ซึ่งนับว่าได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
  • เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว ทางร้านขอความร่วมมือลูกค้าทําความสะอาดโต๊ะด้วยความสมัครใจ ซึ่งร้อยละ 80-90 สะดวกจัดการด้วยตนเอง ที่เหลือร้อยละ 10-20 ไม่สะดวกร่วมมือ แต่ทางร้านก็จะมีพนักงาน part-time เข้ามาเก็บกวาดทำความสะอาดโต๊ะในเวลา 08.00 น. ของทุกเช้า

ทางร้านสามารถกำหนดราคาอาหารได้ถูกลง ซึ่งนับว่าได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย

ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่เปิดร้านเมื่อเดือนกันยายน 2564 พนักงานร้านเปิดเผยว่า มียอดขายประมาณ 120,000-150,000 หยวนต่อเดือน โดยลูกค้าจะนิยมเข้ามารับประทานในช่วงเวลา 17:00 ถึง 22.00 น. ที่ผ่านมาไม่เคยประสบปัญหาเรื่องลูกค้าขโมยอาหาร แต่มีบ้างที่ลูกค้าบางส่วนไม่สะดวกเก็บโต๊ะหลังรับประทานเสร็จดังกล่าวข้างต้น ทางร้านจึงยังต้องมีพนักงาน part-time เข้ามาช่วยเก็บกวาดทุกเช้า

 

โอกาสประยุกต์ใช้ในประเทศไทย 

สำหรับประเทศไทย มีธุรกิจร้านอาหารประเภทหม้อไฟและปิ้งย่างเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตขึ้นร้อยละ 5.0 - 9.9 จากเดิมร้อยละ 11 ในปี 2564 ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 3.78 – 3.96 แสนล้านบาทเลยทีเดียว สะท้อนถึงการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นทุกขณะ

 

ไอเดียจากร้าน Yangyucha ข้างต้น จึงเป็นอีกหนึ่งไอเดียร้านอาหารที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการอาจพลิกแพลงเป็นกลยุทธ์การบริการรูปแบบใหม่ที่ลูกค้าจัดการได้เองครบวงจร หรืออาจนำมาใช้แบบผสมผสานกับการบริการที่ดี ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้าแล้ว เป็นการสร้างจุดขาย เพิ่มโอกาสการแข่งขันให้แก่ร้านค้าอีกด้วย