มาเก๊ายกเครื่อง “ธุรกิจกาสิโน” เพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ

22 ก.พ. 2565 | 06:08 น.
930

เมื่อกล่าวถึงเขตบริหารพิเศษมาเก๊า อาจนึกถึงภาพด้านการท่องเที่ยวและสีสันของการเสี่ยงโชค อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มาเก๊าได้เดินหน้าสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมผลักดันจากจีน หนึ่งในนั้นคือ "ธุรกิจกาสิโน" ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงด้วยเช่นกัน

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต

โดย สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง / ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com

- - - - - - - - - - -

 

ล่าสุด สภานิติบัญญัติแห่งมาเก๊า ได้เห็นชอบการปรับปรุง กฎหมาย Gaming Industry Law ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2544 โดยมีจุดมุ่งหมายส่งเสริมการแข่งขันมากขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเก๊าในภาพรวม เช่น

  • ปรับลดระยะเวลาสัมปทานธุรกิจกาสิโนเหลือ 10 ปี จากเดิม 20 ปี
  • เสนอให้ผู้มีถิ่นพำนักถาวรในมาเก๊าสามารถเข้าถือหุ้นในกาสิโนได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15
  • นอกจากนี้ ยังปรับปรุงกฎกติกาเพิ่มเติมสำหรับผู้รับสัมปทานธุรกิจกาสิโน เช่น กำหนดให้ขออนุญาตจากกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังมาเก๊าก่อนดำเนินแนวทางธุรกิจใหม่ ๆ  ตลอดจนระบุให้ผู้ได้รับสัมปทานต้องทำโครงการที่รับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่สนับสนุนธุรกิจ SMEs ท้องถิ่นและสร้างความหลากหลายของเศรษฐกิจด้วย

สภานิติบัญญัติแห่งมาเก๊าเห็นชอบปรับปรุงกฎหมาย Gaming Industry Law ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2544

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทจากทั้งในและนอกมาเก๊า รวม 6 ราย ที่ได้รับสัมปทานธุรกิจกาสิโนในมาเก๊า ซึ่งปี 2564 มีการขยายตัวร้อยละ 43.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นมูลค่ารวม 3.64 แสนล้านบาท

 

นอกจากนี้ จีนยังได้ส่งเสริมผลักดันให้มาเก๊าเป็นศูนย์กลางทางการเงินอีกแห่งหนึ่งของจีน ซึ่งเป็นความพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมการเงิน เพื่อกระจายความเสี่ยงของเศรษฐกิจมาเก๊าจากอุตสาหกรรมเดิม โดยเฉพาะในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจกาสิโน  โดยที่ผ่านมาได้มีความริเริ่มและโครงการต่าง ๆ เช่น

  • แนวคิดการจัดตั้ง ตลาดหลักทรัพย์มาเก๊า เมื่อปี 2562 
  • การดำเนิน โครงการ Wealth Management Connect เมื่อเดือนกันยายน 2564
  • ล่าสุด จีนได้ประกาศดำเนิน โครงการ Qualified Foreign Limited Partnership (QFLP) ในเขต Macao – Hengqin Zone ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงฮ่องกงและไต้หวันเข้ามาใช้มาเก๊าเป็นฐานการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องทรัพย์สินขั้นต่ำในการระดมทุน

 

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ นักวิเคราะห์ฮ่องกงได้ให้ความเห็นว่า การส่งเสริมบทบาทางการเงินของมาเก๊า จะช่วยสร้างการสอดประสานพลังทางเศรษฐกิจ (synergy) ของทั้งฮ่องกง มาเก๊า ตามนโยบายการพัฒนา Greater Bay Area (GBA) ในพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ในภาพใหญ่อีกด้วย

ภาพรวมเศรษฐกิจมาเก๊าในช่วงปีที่ผ่านมา

มาเก๊าซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรท่องเที่ยวและธุรกิตกาสิโน ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับนานาประเทศทั่วโลก รัฐบาลมาเก๊าได้ริเริ่มโครงการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย (consumption benefits) ผ่านช่องทางการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) โดยผู้ที่มีถิ่นพำนักในมาเก๊าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะได้รับ e-vouchers ประกอบด้วย เงินเยียวยามูลค่า 5,000 ปาตากา (ราว 2 หมื่นบาท) และส่วนลดสำหรับสินค้าและบริการ มูลค่า 3,000 ปาตากา (ราว 1.2 หมื่นบาท) ซึ่งสามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 จนถึงสิ้นปี ซึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้ที่มีถิ่นพำนักในมาเก๊าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5.5 แสนคน

 

ดัชนีทางเศรษฐกิจครึ่งแรกของปี 2564

(1) GDP ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 หดตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบแบบปีต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 45.9 ในไตรมาสก่อน

(2) การส่งออก ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 มีการขยายตัวร้อยละ 137.7 ในขณะที่การส่งออกภาคบริการขยายตัวร้อยละ 4.1

(3) มูลค่าการค้าปลีก ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 68 เมื่อเทียบแบบปีต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 จากไตรมาสก่อน โดยมีมูลค่ารวม 18.7 พันล้านปาตากา (ราว 7.7 หมื่นล้านบาท)

(4) การท่องเที่ยว ในเดือนพฤษภาคม 2564 มาเก๊ามีจำนวนนักท่องเที่ยว 866,063 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5,268 เมื่อเทียบแบบปีต่อปีกับเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งมาเก๊าแทบจะปิดตัวจากการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 16,133 คน ในขณะที่ช่วงก่อน COVID-19 ในเดือนพฤษภาคม 2562 มาเก๊ามีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 3,362,835 คน

 

ปัจจุบัน มาเก๊าเปิดรับเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน โดยยังไม่เปิดรับชาวต่างชาติ ยกเว้นผู้ที่มีถิ่นพำนักและมีใบอนุญาตทำงานในมาเก๊า

 

การที่มาเก๊าริเริ่มโครงการดังกล่าว จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม และกระตุ้นการหมุนเวียนของเงินภายในประเทศ ซึ่งตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมามากขึ้น แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยกลับมาเป็นปกติ

 

ดังนั้น มาเก๊า นับเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายที่น่าสนใจในส่งออก โดยเฉพาะสินค้าการเกษตรและประมง เนื่องจากมาเก๊ามีทรัพยากรธรรมชาติ และที่ดินเพาะปลูกที่จำกัด และนิยมนำเข้ามากขึ้นในช่วงนี้ นอกจากนี้ การลงทุนด้าน SMEs และ e-commerce ยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ เนื่องจากมาเก๊ามีการให้ความช่วยเหลือ SMEs ผ่านโครงการ SME Assistance Programme และโครงการ Loan Credit Assurance Scheme เพื่อบรรเทาปัญหาด้านเงินทุนอีกด้วย