บิ๊กบริษัทสหรัฐมอง “เศรษฐกิจถดถอย” จ่อคอหอยใน 12 เดือน

05 ต.ค. 2565 | 06:45 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2565 | 14:04 น.

ผลสำรวจล่าสุดชี้ ผู้นำบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐกว่า 90% เชื่อว่า สหรัฐจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงอย่างต่อเนื่อง

เคพีเอ็มจี (KPMG) บริษัทสอบบัญชีรายใหญ่ของโลก เปิดเผยวานนี้ (4 ก.ย.) ว่า ผู้นำภาคธุรกิจของสหรัฐ เชื่อว่าพวกเขากำลังจะเผชิญ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในระยะ 12 เดือน และไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาเพื่อสกัด เงินเฟ้อ

 

ทั้งนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐจำนวน 400 ราย พบว่า

  • ผู้ถูกสำรวจ 91% คาดว่าสหรัฐจะเผชิญ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
  • มีเพียง 34% ที่คาดว่าภาวะถดถอยดังกล่าวจะมีความรุนแรงไม่มาก และสิ้นสุดในระยะเวลาอันสั้น
  • ผู้ถูกสำรวจมากกว่า 50% กำลังพิจารณาปลดพนักงานเพื่อรับมือภาวะเศรษฐกิจถดถอยดังกล่าว

 

อย่างไรก็ดี ผู้ถูกสำรวจมีความกังวลเช่นกันว่า การปลดพนักงาน หรือ การลดค่าใช้จ่ายมากเกินไป อาจจะสร้างความเสี่ยงในระยะยาวให้กับบริษัท

50% กำลังพิจารณาปลดพนักงานเพื่อรับมือภาวะเศรษฐกิจถดถอยดังกล่าว

นอกจากนี้ ผู้บริหารมีแนวโน้มที่จะ “ลดการลงทุน” ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลในปีหน้า (2566) เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัท

 

อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจครั้งนี้พบว่า ผู้นำธุรกิจส่วนใหญ่เชื่อว่า บริษัทมีความแข็งแกร่งมากขึ้นในการที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยหลังเกิดวิกฤตทางการเงินที่รู้จักกันในนามวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (วิกฤตซับไพรม์)

 

ขณะเดียวกัน บรรดาผู้บริหารในภาคธุรกิจกำลังจับตาการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพ.ย. นี้ รวมทั้งปัจจัยทางการเมือง ก่อนที่พวกเขาจะพิจารณาการลงทุนในระยะยาว

บิ๊กบริษัทสหรัฐมอง “เศรษฐกิจถดถอย” จ่อคอหอยใน 12 เดือน

ด้านนักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่า เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย. แต่หลังจากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ ทำให้มีการปรับลดคาดการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ลงเล็กน้อย โดย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 58.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้น้ำหนักสูงถึง 68.1%

 

นอกจากนี้ นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักสู่ระดับ 41.5% ต่อการคาดการณ์ว่า เฟดน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว

 

การที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่ต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 50.9 ในเดือนก.ย. 2565 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563

 

ทั้งนี้ ดัชนีภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งเป็นการหดตัวลงเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ ขณะที่การจ้างงานหดตัวเป็นครั้งที่ 4