เปิด “ไทม์ไลน์” คาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี 2565

19 ก.ค. 2565 | 06:15 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2565 | 13:29 น.
648

เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปีเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา แต่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐก็ยังคงดีดตัวขึ้น ส่งผลให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ต่อไปนี้เป็น“ไทม์ไลน์” ซึ่งรวมทั้งคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปจนถึงสิ้นปี 2565

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) มีกำหนดจัดการประชุมนโยบายการเงินเป็นครั้งที่ 5 ของปีนี้ในวันที่ 26-27 ก.ค. โดยก่อนหน้านี้ เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น “ครั้งแรก” นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2561 เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นหลังจากที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565

 

เฟดขึ้นดอกเบี้ยแบบขั้นบันได แต่คุมเงินเฟ้อไม่อยู่

แม้ เฟด ดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. แต่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐก็ยังคงดีดตัวขึ้น ส่งผลให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ นับตั้งแต่ 0.50% ในเดือนพ.ค. และ 0.75% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537

 

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงถึง 1.00% ในการประชุมเดือนก.ค.นี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 9.1% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

คาดเงินเฟ้อผ่านจุดพีค หลังราคาน้ำมันดิ่งหนักในเดือนก.ค.

อย่างไรก็ดี ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนได้ลดคาดการณ์เกี่ยวกับการที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมเดือนก.ค.นี้ หลังมีการเปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่าผู้บริโภคได้ลดคาดการณ์เงินเฟ้อ ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดบางรายแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.75% ในเดือนนี้ แทนที่จะปรับขึ้นอย่างรุนแรงถึง 1.00%

 

นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนี CPI ประจำเดือนก.ค.ที่จะมีการเปิดเผยในเดือนส.ค. จะบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐชะลอตัวลงอย่างมาก เนื่องจากราคาน้ำมันทรุดตัวลงอย่างหนักในเดือนก.ค. ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

"พาวเวลล์" ยอมรับคาดการณ์เงินเฟ้อเป็นปัจจัยตัดสินนโยบายดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อเป็นข้อมูลที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ยอมรับว่ามีผลต่อการตัดสินใจในการประชุมนโยบายการเงินของเฟด

 

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 33.2% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. และให้น้ำหนัก 66.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

 

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนให้น้ำหนักถึง 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 5.2% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยต่ำกว่าระดับ 5.3% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.

 

สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2.8% โดยต่ำกว่าระดับ 3.1% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี

 

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด กล่าวอย่างชัดเจนหลังการประชุมนโยบายการเงินของเฟดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในผลสำรวจความเชื่อมั่นของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เฟดเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 15 มิ.ย. แม้ว่าเฟดคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% ก่อนหน้านั้นเพียง 1 สัปดาห์

 

ทั้งนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 50.2 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในช่วงทศวรรษ 1940 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 58.5 หลังจากแตะระดับ 58.4 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตต่างปรับตัวลง

 

นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะ 5.4% ในปีหน้า โดยสูงกว่าระดับ 4.2% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และคาดว่าเงินเฟ้อจะแตะ 3.3% ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยสูงกว่าระดับ 2.8% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

"เราพบว่าข้อมูลที่มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจ ซึ่งเรากำลังจับตาตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อ และกำลังให้ความจริงจังในเรื่องนี้" นายพาวเวลล์กล่าว

เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปีเมื่อเดือนมีนาคม 2565

ไทม์ไลน์เฟดขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565

รายละเอียดการดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดนับตั้งแต่ต้นปี 2565 รวมทั้งคาดการณ์ไทม์ไลน์ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมอีก 4 ครั้งที่เหลือในปีนี้ เป็นดังนี้

  • วันที่ 25-26 ม.ค.     คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25%
  • วันที่ 15-16 มี.ค.     ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 0.25-0.50%
  • วันที่ 3-4 พ.ค.        ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ 0.75-1.00%
  • วันที่ 14-15 มิ.ย.     ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 1.50-1.75%
  • วันที่ 26-27 ก.ค.     (คาดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 2.25-2.50%)
  • วันที่ 20-21 ก.ย.     (คาดขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ 2.75-3.00%)
  • วันที่ 1-2 พ.ย.        (คาดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 3.00-3.25%)
  • วันที่ 13-14 ธ.ค.     (คาดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 3.25-3.50%)