เงินเฟ้อ 9.1% เป็นเหตุ คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง 1.0% ในการประชุม ก.ค.นี้  

14 ก.ค. 2565 | 08:45 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2565 | 16:12 น.
2.2 k

ทั้งเจ้าหน้าที่เฟดและนักวิเคราะห์เชื่อว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่การประชุม FOMC เดือนก.ค.นี้ เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบ super-size ที่อัตรา 1.0% เต็ม ๆ เพื่อสกัดความร้อนแรงของเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง และทำสถิตินิวไฮในรอบกว่า 40 ปีเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ 9.1%

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัด เงินเฟ้อ จากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 9.1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี และเป็นการเพิ่มขึ้นจากระดับ 8.6 % ในเดือนพ.ค. ทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า เป็นไปได้ที่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับ ขึ้นดอกเบี้ย ในอัตราสูงถึง 1.0% ในเดือนก.ค.นี้ มากกว่าที่คาดไว้เดิมที่ระดับ 0.75%  

 

ข้อมูลของทางการสหรัฐชี้ว่า ราคาสินค้าเมื่อเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 9.1% ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดตั้งเเต่เดือนพฤศจิกายนปี 1981 หรือเกือบ 41 ปีก่อน อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ (นักวิเคราะห์เคยคาดไว้ที่ระดับ 8.8%) และสะท้อนถึงราคาที่พุ่งขึ้นของนัำมัน อาหาร ค่าเช่าบ้าน ตลอดจน ยานพาหนะ การดูเเลสุขภาพ เสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์บ้าน

 

ตัวเลขดังกล่าวกระตุ้นการคาดหมายว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดที่กำลังจะมีขึ้นปลายเดือนนี้ (26-27 ก.ค.) เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.5 – 1.75% เพื่อชะลอการใช้จ่ายภาคธุรกิจและการบริโภค พร้อมชะลอเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในขณะเดียวกัน แต่ก็มีนักวิเคราะห์จำนวนมากที่เชื่อว่า เฟดจะใช้ “ยาแรง” ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ที่อัตรา 1.0% ไปเลย ซึ่งจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยแบบ super-size หรือขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่บึ้ม อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน

ทุกสายตากำลังจับจ้องการประชุมขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนก.ค.นี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงความเห็นของนักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทวานนี้ (13 ก.ค.) ว่า เฟดอาจจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยครั้งประวัติศาสตร์ 1.0% ในการประชุม FOMC ปลายเดือนนี้ หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐยังคงพุ่งอยู่อย่างต่อเนื่อง กดดันให้ธนาคารกลางต้องลงมือใช้มาตรการสกัดกั้น

 

นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตาให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวหลังจากที่มีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.วานนี้ (13 ก.ค.) ซึ่งพุ่งแรงเหนือความคาดหมายที่อัตรา 9.1% ว่า ตอนนี้ทุก ๆทางเลือกมีความเป็นไปได้ รวมทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1.0%

 

ด้านนักลงทุนก็ให้น้ำหนักมากขึ้นว่า แนวโน้มที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 1.0% ในเดือนก.ค.นี้ มีความเป็นไปได้สูงมาก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยสูงที่สุดนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มใช้ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือกำกับนโยบายการเงินโดยตรงตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ทั้งนี้ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มไม่พอใจมากขึ้นเกี่ยวกับค่าครองชีพ-ราคาสินค้าที่พุ่งแรง พวกเขามองว่าเฟดขยับตัวแก้ปัญหา "ช้าเกินไป" ในช่วงที่ผ่านมา

ลอเร็ตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันในการให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์กเมื่อวันพุธ (13 ก.ค.) แม้จะปฏิเสธให้ความเห็นว่าเฟดควรขึ้นดอกเบี้ย 1.0% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค.นี้หรือไม่ เพราะก่อนที่จะถึงวันประชุม ยังมีตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญให้พิจารณาอีกมาก แต่ก็พูดชัดว่า ครั้งที่ผ่านมา (มิ.ย.) เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ไม่มีเหตุผลที่ครั้งนี้ จะขึ้นดอกเบี้ยน้อยไปกว่านั้น

 

ทั้งนี้ ในการประชุมของเฟดครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2565 เฟดตรึงดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในเดือนม.ค. หลังจากนั้นก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาโดยตลอด ดังนี้

  • วันที่ 25-26 ม.ค.     คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25%
  • วันที่ 15-16 มี.ค.     ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50%
  • วันที่ 3-4 พ.ค.        ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 0.75-1.00%
  • วันที่ 14-15 มิ.ย.     ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75%

 

อ่านเพิ่มเติม: ส่อง 'ไทม์ไลน์' เฟดขึ้นดอกเบี้ยปี 65 และคาดการณ์อีก 4 ครั้งที่เหลือ

 

เมสเตอร์เชื่อว่า จากข้อมูลเศรษฐกิจเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ ซึ่งไม่ใช่ข่าวดี เงินเฟ้ออยู่ในอัตราสูงเกินกว่าที่จะรับได้ ทิศทางของเฟดนับจากนี้คือการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะเห็นชัดว่าสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้ปรับลดลงมาได้แล้ว

 

ด้านแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ให้ความเห็นว่า จากข้อมูลเศรษฐกิจที่มีอยู่ เธอเห็นแต่ข่าวร้ายล้วน ๆ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่า การประชุมเดือนก.ค.นี้ เฟดน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75%

 

เฟดเริ่มใช้ยาแรง ปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงในการประชุมครั้งที่ผ่าน ๆมา หลังจากที่ถูกตำหนิและวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าขยับตัวช้าเกินไปจนทำให้คุมเงินเฟ้อไม่อยู่ แต่การขึ้นดอกเบี้ยอัตราสูงของเฟดก็สร้างความปั่นป่วนในตลาดการเงิน และเพิ่มความเสี่ยงที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจถูกผลักเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession)

 

ทีมนักวิเคราะห์จากบริษัทโนมูระ ซีเคียวริตี้ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า เมื่อพิจารณาจากรายงานอัตราเงินเฟ้อรายเดือนที่พุ่งสูงขึ้นเป็นลำดับและแนวโน้มที่ยิ่งจะเลวร้าย จึงเชื่อว่าในการประชุม FOMC เดือนก.ค.นี้ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงขึ้นที่ 1.0% ซึ่งจะทำให้เฟดดูน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย

 

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ที่ผ่านมา เฟดใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มข้น แต่ก็ดูจะไม่ได้ผลมากนักในแง่การลดความร้อนเเรงของอุปสงค์ภายในประเทศ และดึงเงินเฟ้อให้กลับมาเป็นไปตามเป้าที่ 2%

 

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดได้กล่าวไว้ในเดือนมิ.ย.หลังขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 1.5-1.75% ว่า การประชุมในเดือนก.ค. น่าจะมีการปรับขึ้นอีก 0.50 ถึง 0.75% ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมา บรรดาประธานเฟดสาขาต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะขานรับการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเดียวกับที่นายพาวเวลล์กล่าวไว้ หรือไม่ก็สนับสนุนให้ขึ้นมากกว่านั้น

 

หลังจากนี้ไป ประธานเฟดสาขาย่อยจะออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยได้จนถึงวันศุกร์ (15 ก.ค.) จากนั้นจะไม่สามารถออกความเห็นได้อีก เรียกว่าเป็นช่วงงดให้ความเห็นไปจนถึงการประชุมในวันที่ 26-27 ก.ค. (pre-meeting blackout period)

 

แม้ว่าปรากฏการณ์เงินเฟ้อที่รุนเเรงจะเป็นประเด็นที่ทั่วโลกเผชิญอยู่​ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ราคาสินค้าที่เเพงขึ้นได้สร้างความท้าทายทางการเมืองต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ และพรรคเดโมเเครตของเขา ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลายฝ่ายมองว่า ความนิยมในตัวปธน.ไบเดนลดลงมาก จนเขาไม่ควรลงชิงชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สองของเขาด้วยซ้ำ

 

รายงานข่าวของรอยเตอร์ยังระบุด้วยว่า ขณะที่เฟดกำลังจะมีการประชุมปลายเดือนนี้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 1.0% หรือไม่ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (13 ก.ค.) ธนาคารกลางของเเคนาดาได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1.0% เต็มเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดตั้งเเต่ปี 1998 หรือสูงสุดในรอบ 24 ปี

 

ข้อมูลอ้างอิง