ดุษฎี “นโยบายสังคม 5.0” ชินโซ อาเบะ อดีตนายกฯญี่ปุ่นผู้ล่วงลับ

08 ก.ค. 2565 | 20:31 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2565 | 04:02 น.

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจ-การเมืองระหว่างประเทศ ร่วมไว้อาลัยการจากไปของนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ด้วยการย้อนรำลึกถึงผลงานสร้างสรรค์ของเขาในนาม “นโยบายสังคม 5.0” แนวคิดนอกกรอบ แต่รอบด้านครอบคลุมทุกมิติเพื่อสร้าง "สังคมที่ยั่งยืน"

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Piti Srisangnam ร่วมไว้อาลัยการจากไปของ นายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ผู้ถึงแก่อสัญกรรมจากเหตุการณ์ถูกลอบสังหารเช้าวันนี้ (8 ก.ค.) ด้วยการรำลึกถึงอีกผลงานของนายอาเบะ นั่นคือ “นโยบายสังคม 5.0” ซึ่งเป็นการคิดนอกกรอบแต่รอบด้านครอบคลุมทุกมิติเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน เนื้อหาบทความมีดังนี้   

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

รำลึก #ShinzoAbe

หลายๆ คนจดจำอดีตนายกฯ ท่านนี้เพราะแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบผ่อนคลาย เปิดกว้าง สนับสนุนให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในญี่ปุ่น สนับสนุนให้คุณผู้หญิงเข้ามาทำงานแล้วมีสิทธิในทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซามานานทำท่าว่าอาจจะขยับขึ้นได้เล็กน้อยภายใต้แนวคิดที่เรียกกันว่า #Abenomic

 

บางคนจดจำบทบาทที่เขาใกล้ชิดสหรัฐอเมริกา และดูเหมือนจะทำการยั่วยุจีนในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะการเข้าเคารพศาลเจ้ายาสุคุนิ ที่เป็นที่ประดิษฐานป้ายวิญญาณของอาชญากรรมสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้ฝ่ายจีนไม่พอใจในหลายๆรอบ แต่ในที่สุดชินโซอาเบะ คือนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนแรกในรอบหลายปี ที่เดินทางไปกรุงปักกิ่ง และคุยกับสีจิ้นผิง ว่าจีนกับญี่ปุ่นน่าจะจับมือกันไปลงทุนในประเทศที่ 3

คนจำนวนมากจดจำเขาได้จากการแต่งชุดเป็นซุปเปอร์มาริโอ้ในพิธีส่งมอบการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศบราซิล

 

แต่สำหรับผม ผมต้องการจดจำชินโซอาเบะ ในฐานะผู้ที่สนับสนุน จนญี่ปุ่นสร้างแนวคิด #สังคม5.0

 

การคิดนอกกรอบแต่รอบด้านครอบคลุมทุกมิติเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนในวันที่ทั่วโลกพูดถึงแต่อุตสาหกรรม 4.0 แต่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้าปัญหาสังคม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผ่านญี่ปุ่นผลักดันนโยบายสังคม 5.0 อย่างต่อเนื่องต่อไป เหตุสลดที่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็คงจะไม่เกิดขึ้นอีก

 

สังคม 5.0 คืออะไร เชิญชวนอ่านครับ

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีในยุคของการเปลี่ยนผ่าน โดยมีอุตสาหกรรมเป็นจุดศูนย์กลาง ที่เรียกว่า อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ซึ่งมีประเทศเยอรมันเป็นผู้ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงหากแต่ประเทศญี่ปุ่นกลับพิจารณาการปฏิรูปให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยมีสังคมเป็นจุดศูนย์กลางภายใต้ นโยบายสังคม 5.0 (Society 5.0) ซึ่งญี่ปุ่นตั้งวิสัยทัศน์ของการปฏิรูปครั้งนี้ว่า “A People-Centric Society Founded on the Merging of Cyberspace and Physical Space” สังคมที่มีมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลางบนพื้นฐานของการประสานกันระหว่างโลกไซเบอร์และโลกกายภาพ โดยอุตสาหกรรม 4.0 และ สังคม 5.0 มีข้อเหมือนและข้อแตกต่างที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ดังตารางต่อไปนี้

ตารางเปรียบเทียบอุตสาหกรรม 4.0 และ สังคม 5.0

ตารางเปรียบเทียบอุตสาหกรรม 4.0 และ สังคม 5.0

 

ญี่ปุ่นจำแนกพัฒนาการทางสังคมที่ผ่านมาออกเป็น 4 ยุค ได้แก่

  • สังคม 1.0 Hunting Society หรือสังคมบุพกาลที่มนุษย์ยังเร่ร่อน ล่าสัตว์เป็นอาหาร อยู่กันแบบชนเผ่า
  • สังคม 2.0 Agricultural Society หรือสังคมที่มนุษย์ลงหลักปักฐาน สร้างชุมชนหมู่บ้านทำการเกษตร
  • สังคม 3.0 Industrial society ซึ่งญี่ปุ่นสามารถกลายเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมถึงจุดสูงสุดในยุค Industry 3.0 ช่วงทศวรรษ 1960-1970
  • และ สังคม 4.0 Information Society สังคมปัจจุบันที่เป็นสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร

 

โดย สังคม 5.0 ของญี่ปุ่นจะต้องเป็นสังคมแห่งอนาคตที่พัฒนาต่อยอดจากสังคม 4.0 ในมิติสำคัญๆ ดังนี้  (Keidanren, 2018)

  • สังคมยุค 1.0-4.0 ที่เน้นใช้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ในสังคมยุค 5.0 ญี่ปุ่นต้องสร้างระบบการผลิตที่เน้นการแก้ปัญหาและการสร้างมูลค่า
  • สังคมยุค 1.0-4.0 ที่ลดทอนความเป็นปัจเจกชน (Suppression of Individuality) เพื่อสร้างความเป็นเอกรูป (Uniformity) ที่ทุกคนเหมือนกันหมดเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการที่เน้นประสิทธิภาพ แต่ในสังคมยุค 5.0 ญี่ปุ่นต้องเน้นความหลากหลายDiversity) ที่ส่งเสริมให้แต่ละบุคคลได้ใช้และเสริมสร้างศักยภาพที่มีแตกต่างกันในแต่ละบุคคล
  • สังคมยุค 1.0-4.0 เกิดความเหลื่อมล้ำ การกระจุกตัวของกระบวนการผลิต การบริโภค และการสะสมความมั่งคั่ง แต่ในสังคมยุค 5.0 ญี่ปุ่นต้องการกระจายโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสได้ในทุกสถานที่และทุกเวลาผ่านการกระจายอำนาจในทุกภาคส่วนของสังคม (Decentralization)
  • สังคมยุค 1.0-4.0 ทำให้ประชาชนบางกลุ่มกลายเป็นกลุ่มเปราะบาง เกิดความเครียดและความกดดันทางสังคม  แต่ในสังคมยุค 5.0 ญี่ปุ่นต้องสร้างสังคมที่มีภูมิคุ้มกัน (Resilience) ให้ประชาชนทุกคนสามารถมีชีวิตอยู่ได้แม้จะมีภัยคุกคามเข้ามาในรูปแบบต่างๆ
  • สังคมยุค 1.0-4.0 สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาวะแวดล้อมเนื่องจากการถลุงบริโภคทรัพยากรจนเกินขนาด ดังนั้นในสังคมยุค 5.0 ญี่ปุ่นต้องเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้มนุษย์สามารถดำรงอยู่ได้โดยสอดคล้องกับธรรมชาติ

 

ในการนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้นำในการปฏิรูป โดยเริ่มต้นในปี 2016-2017 ผ่านยุทธศาสตร์สำคัญ 2 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ The 5th Science and Technology Basic Plan ในปี 2016 และ Comprehensive Strategy on Science, Technology and Innovation for 2017

 

โดยแผนดังกล่าวเน้นการสร้างสังคมและเศรษฐกิจใหม่ด้วยการปฏิรูปปัจเจกบุคคลให้มีพลังสามารถกำหนดวิถีชีวิตที่เปี่ยมสุขภาวะ ปฏิรูปองค์กรธุรกิจให้สร้างคุณค่าใหม่ เพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรมจากกระบวนการดิจิทัล และแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาจำนวนประชากรที่คนเกิดน้อยลงและอายุยืนมากขึ้น ปัญหาภัยพิบัติและการก่อการร้าย และปัญหาสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากร

 

นอกจากนี้ แผนดังกล่าวยังเสนอให้ญี่ปุ่นต้อง “ทำลายกำแพงทั้ง 5 ” อันประกอบด้วย

  1. กำแพงของระบบราชการ ที่ทำให้หน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถทำงานสอดประสานกันได้ ทำลายกำแพงนี้ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติและบูรณาการหน่วยงาน
  2. กำแพงของกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา ที่ล้าสมัย  ด้วยการปรับปรุงข้อบทที่เป็นอุปสรรค
  3. กำแพง (เพดาน) ของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยการสร้างฐานความรู้ใหม่ที่มาจากปัจเจคบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญที่หลากหลาย
  4. กำแพงทรัพยากรมนุษย์ที่มีสาเหตุมาจากโครงสร้างประชากร ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของพลเมืองทุกคน และทุกช่วงวัย  และ
  5. กำแพงของการยอมรับทางสังคม

 

ซึ่งจะทำลายกำแพงนี้ได้ ด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีขั้นสูงให้เข้ามาตอบโจทย์สังคม ตัวอย่างโครงการ เช่น ที่ผ่านมาการแข่งขันที่รุนแรงในทางธุรกิจทำให้เกิดทรัพยากรบุคคลเกิดความเครียดและขาดความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นญี่ปุ่นจึงการประกาศพื้นที่ “ไม่แข่งขัน” ที่เป็นการพัฒนา เติบโต และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างบริษัทญี่ปุ่นกับบริษัทต่างชาติ การสร้างงานศึกษาโครงการต่างๆ ที่เป็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ กิจกรรมขยายตลาดสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสังคม 5.0 กิจกรรมปฏิรูปโครงสร้างองค์กรให้เป็นมิตรต่อพนักงานมากขึ้น เป็นต้น

 

จะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมญี่ปุ่น ในนาม สังคม 5.0 จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในอนาคตที่ทำให้การขยายอิทธิพลโดยใช้พลังอำนาจอ่อน (Soft Power) มีพลานุภาพสูงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่เคยได้รับอิทธิพลทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมาแล้วอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศไทย และเพื่อนบ้านประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยที่ได้เข้าสู่ภาวะโครงสร้างประชากรสูงวัยเต็มขั้น (Aged Society) ในปี 2020/2021 ซึ่งก็ต้องเผชิญปัญหาทางสังคมในรูปแบบเดียวกับที่ญี่ปุ่นเคยเผชิญมาแล้วในอดีต

 

โดยแนวโน้มการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ควบคู่ไปกับพัฒนาสังคม (เน้นความสะดวกสบาย ความมีชีวิตชีวา และคุณภาพชีวิตที่ดี) ที่จะได้เห็นในอนาคตโดยประเทศญี่ปุ่น จะมีลักษณะตัวอย่างดังต่อไปนี้

 

  • มิติสาธารณสุข: การใช้อุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อตรวจสอบสัญญาณชีพในลักษณะเวชศาสตร์ป้องกัน ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาร่วมในการทำหัตถการ และการดูแลผู้ป่วย ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลดีกับสังคมในการยืดอายุขัยเฉลี่ยและทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นในทุกช่วงวัยควบคู่ไปกับการลดต้นทุนและลดภาระทางงบประมาณในการบริหารจัดการระบบสวัสดิการสังคม
  • มิติพลังงาน: การกระจายตัวของการใช้แหล่งพลังงานทางเลือกซึ่งสามารถสร้างแหล่งผลิตพลังงานได้ในทุกพื้นที่เพื่อป้อนพลังงานให้กับพื้นที่ของตนเอง ซึ่งจะทำให้ประเทศสามารถลดต้นทุนในการผลิตพลังงานในโรงงานขนาดใหญ่ ลดความสูญเสียและลดต้นทุนการขนส่งพลังงานจากโรงไฟฟ้าที่อยู่ไกลไปถึงผู้บริโภค และในขณะเดียวกันก็เป็นการลดภาระต่อสภาวะแวดล้อมและสภาวะภูมิอากาศ
  • มิติการเกษตร: การนำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในระบบการผลิตภาคเกษตร ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว (Post-Harvesting) การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และระบบโลจิสติกส์เพื่อส่งมอบผลผลิต ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจที่จะมีการผลิตและการเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีผลต่อความมั่นคง และต้องมีการลดการใช้ทรัพยากรตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการบริโภค
  • มิติอุตสาหกรรม: ญี่ปุ่นจะเน้นการสร้างเสริมสมดุลของห่วงโซ่มูลค่า (Optimal Value Chain) ตามแนวคิด Monozukuri ซึ่งหมายถึงการพัฒนาทุกกระบวนตลอดเวลา โดยการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาในกระบวนการผลิตโดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน และลดการสูญเสียในการผลิต