เศรษฐกิจจีน 2565 ‘ตลาดอสังหาฯทรุด’ น่ากลัวกว่า ‘โควิด’

23 มิ.ย. 2565 | 14:16 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2565 | 21:29 น.
1.1 k

นักวิเคราะห์คาด ตลาดอสังหาฯทรุด เป็นปัจจัยเสี่ยงใหญ่ ที่จะทำให้เศรษฐกิจจีน "ถดถอย" ได้มากกว่าผลกระทบจากโควิด-19

การทรุดตัวของ ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน มีแนวโน้มที่จะสะท้อนนัยยะทาง เศรษฐกิจของจีน มากกว่าที่เป็นอยู่ ขณะที่ทั่วโลกต่างจับตามอง ผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ทางเศรษฐกิจในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ซึ่งยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาด

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ดัชนีชี้วัดยอดขายอพาร์ทเมนต์และบ้านของจีน ร่วงลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นสถิติที่ร่วงลง “ยาวนานที่สุด” นับตั้งแต่จีนพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์เมื่อช่วงทศวรรษ 1990 ขณะที่อุปสงค์ด้านบริการและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างบ้านและยอดขายบ้านคิดเป็นสัดส่วน 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

 

นายลู่ ถิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ โฮลดิงส์ วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นช่วงขาลงครั้งรุนแรงที่สุดของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จีน โดยช่วงระยะเวลาการหดตัวยังกินเวลายาวนานกว่า เมื่อเทียบกับปี 2551 และ 2557 ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก เนื่องจากจีนมีความต้องการนำเข้าเหล็กและทองแดงจากต่างประเทศลดลง

ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนในปีนี้ หดตัวรุนแรงกว่าปี 2564

แม้จะมีการคาดการณ์ว่า ยอดขายบ้านในจีนจะกระเตื้องขึ้นบ้างเล็กน้อยในปีนี้เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของตลาดอสังหาฯ แต่การล็อกดาวน์ในเซี่ยงไฮ้และอีกหลายเมืองเมื่อช่วงเดือนมี.ค. ก็ได้ ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนในปีนี้ หดตัวรุนแรงกว่าปี 2564

ถึงแม้ว่าขณะนี้เมืองใหญ่หลายแห่งของจีนจะผ่อนคลายข้อจำกัดในการซื้อบ้านเมื่อช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และธนาคารกลางจีน (PBOC) ก็ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนองลงในเดือนพ.ค. แต่ยอดขายบ้านในเมืองใหญ่ก็ยังคงดิ่งลงกว่า 40% จากเดือนพ.ค. เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องหยุดทำการและมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มมากขึ้น

 

ไอริส พ่าง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็นจี กรุ๊ป ให้ความเห็นว่า อัตราการจ้างงานจำเป็นต้องฟื้นตัวขึ้นก่อน ดีมานด์จึงจะฟื้นตาม ซึ่งขึ้นอยู่กับแนวโน้มการล็อกดาวน์ในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร นักวิเคราะห์รายนี้ไม่คิดว่ายอดขายอสังหาริมทรัพย์ของจีนจะฟื้นตัวขึ้นได้จนกว่าจะถึงปีหน้า (2566)

 

ทางด้าน วาณิชธนกิจโกลด์แมน แซคส์ เปิดเผยว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนนั้น คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนหดตัวลง 1.4% ในปีนี้ มากกว่าผลกระทบจากการใช้นโยบายควบคุมโควิด-19 ซึ่งมีสัดส่วนต่อจีดีพีเพียง 0.2% เท่านั้น ทั้งนี้ การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์จะทำให้เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จีนตั้งไว้ที่ 5.5% ในปีนี้ (2565) ยากจะสำเร็จ ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนคาดว่า แม้การขยายตัวในระดับ 3% ก็ยังทำได้ยาก

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ให้คำมั่นว่าจะผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตตามเป้าหมายในปีนี้

"สี" ยอมรับตลาดอสังหาฯและโควิด อาจฉุดเศรษฐกิจโตต่ำกว่าเป้า

ด้าน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ให้คำมั่นว่าจะผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตตามเป้าหมายในปีนี้ แม้ว่านโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) ซึ่งรัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัย อาจจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็ตาม

 

ปธน.สีกล่าวในการประชุม BRICS Business Forum ซึ่งจัดขึ้นทางออนไลน์เมื่อวันพุธ (22 มิ.ย.)ว่า จีนจะปรับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสำหรับปี 2565 และลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นับเป็นครั้งแรกที่ปธน.สีได้กล่าวถึงเป้าหมายดังกล่าวนับตั้งแต่การประชุมกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ (โปลิตบูโร) ในเดือนเม.ย.ปีนี้ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า จีนจะพลาดเป้าหมายการเติบโตของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ระดับ 5.5% ในปีนี้ โดยผลสำรวจล่าสุดของสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP จีนในปีนี้ลง 0.40% สู่ระดับ 4.1% และคาดว่า GDP จะหดตัวลงในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

 

ด้านนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ออกนโยบายต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ โดยกล่าวว่านโยบายเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้ง

 

นอกจากนี้ นายหลี่ยังได้ประกาศมาตรการต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการขยายขอบข่ายการยกเว้นภาษีสำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์พลังงานใหม่ และส่งเสริมตลาดรถยนต์มือสอง โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะผลักดันมูลค่าตลาดรถยนต์และการบริโภคที่เกี่ยวข้องของจีน ให้เพิ่มขึ้นราว 2 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ