โพลชี้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยปีหน้า

17 มิ.ย. 2565 | 07:19 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2565 | 14:36 น.

ผลสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์บ่งชี้ว่า สหรัฐอเมริกากำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า ขณะที่คะแนนนิยมในตัวปธน.โจ ไบเดน ร่วงเอา ๆ ใกล้แตะระดับนิวโลว์เซ่นพิษเงินเฟ้อ

นิตยสารนิวส์วีค (Newsweek) เปิดเผยผลการสำรวจล่าสุด พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ 7 ใน 10 คนเชื่อว่า สหรัฐอเมริกา จะเผชิญ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในปี 2566 ท่ามกลางความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ และ เงินเฟ้อ ที่พุ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ ด้วยนิยามทางเศรษฐศาสตร์ หากประเทศใดประสบภาวะเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกันก็จะเข้าเกณฑ์การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

       

ผลการสำรวจดังกล่าว ซึ่งจัดทำร่วมกันระหว่างหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์และมหาวิทยาลัยชิคาโก ระบุว่า ปัจจัยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยนักเศรษฐศาสตร์เพียง 2% จากจำนวน 47 คนที่เข้าร่วมการสำรวจ เชื่อว่าสหรัฐจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาส 4/65 หรือก่อนหน้านั้น

สงครามในยูเครน รวมทั้งเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

ขณะที่ นักเศรษฐศาสตร์ 38% จากจำนวนดังกล่าว เชื่อว่าสหรัฐจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ขณะที่ 30% เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปีของสหรัฐ หรือนับตั้งแต่ปี 2537

 

นอกจากนี้ เฟดยังได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ (2564) สู่ระดับเพียง 1.7% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.8% ในเดือนมี.ค. ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยก่อนหน้านั้นว่า เศรษฐกิจสหรัฐได้ ‘หดตัว’ ลงมาแล้ว 1.5% ในไตรมาสแรกของปีนี้ (Q1/65) ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอยท่ามกลางผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563

 

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) ตลาดพันธบัตรสหรัฐยังได้เกิดภาวะ inverted yield curve โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปีดีดตัวสูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปีและ 30 ปี หลังจากที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากการเกิดภาวะ inverted yield curve ในตลาดพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาวนั้น  มักเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในอนาคต

คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีโจ ไบเดนร่วงลง 3 สัปดาห์ติดกันใกล้ทำนิวโลว์

คะแนนนิยมไบเดนทรุดฮวบ

แนวโน้มสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่เป็นไปในเชิงลบ ทำให้คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีโจ ไบเดนร่วงลง 3 สัปดาห์ติดกันใกล้ทำนิวโลว์  โดยผลสำรวจของรอยเตอร์/อิปซอสเผยแพร่เมื่อวันพุธ (15 มิ.ย.) ระบุว่า คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีไบเดน ลดลง 3 สัปดาห์ติดต่อกันแตะที่ 39% ซึ่งเข้าใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 36% ของเมื่อปลายเดือนพ.ค. อันเป็นระดับต่ำสุดของการดำรงตำแหน่งปธน.

 

ผลสำรวจทั่วประเทศดังกล่าวที่จัดทำขึ้นเป็นระยะเวลา 2 วัน พบว่า มีชาวอเมริกันถึง 56% ไม่พอใจการทำงานของปธน.ไบเดน

 

ทั้งนี้ คะแนนนิยมของปธน.ไบเดนอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50% มาตลอดตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว (2564) ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า พรรคเดโมแครตอาจสูญเสียที่นั่งในสภาคองเกรสอย่างน้อย 1 ที่นั่งในการเลือกตั้งกลางเทอมซึ่งกำลังจะมีขึ้นในวันที่ 8 พ.ย.ปีนี้

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในปีนี้ปธน.ไบเดน ต้องเผชิญกับปัญหาจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ การที่รัสเซียรุกรานยูเครนทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่ยังคงติดขัด เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

กระนั้นก็ตาม คะแนนนิยมโดยรวมของปธน.ไบเดนยังไม่ร่วงแตะระดับต่ำสุดเท่ากับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเคยทำสถิติไว้ โดยเขามีคะแนนนิยมเพียง 33% ในเดือนธ.ค. 2560

 

การสำรวจของรอยเตอร์/อิปซอสจัดทำขึ้นทางออนไลน์เป็นภาษาอังกฤษทั่วสหรัฐ โดยสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันจำนวน 1,005 คน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครต 443 ราย และสมาชิกพรรครีพับลิกัน 364 ราย