แบงก์ชาตินานาประเทศพาเหรดปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด

16 มิ.ย. 2565 | 19:14 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2565 | 03:24 น.

แบงก์ชาติอังกฤษ (BoE) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% ในการประชุมวันนี้ (16 มิ.ย.) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นำร่องปรับขึ้น 0.75% เมื่อวันพุธ และมีอีกหลายประเทศขยับตัวในทิศทางเดียวกัน

ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติ 6-3 ปรับ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% ในการประชุมวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของ เงินเฟ้อ


คณะกรรมการนโยบายการเงินของ BoE จำนวน 6 คนเห็นชอบต่อมติดังกล่าว ขณะที่อีก 3 คนลงมติให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1.50%


ข่าวระบุว่า BoE ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันนี้ (16 มิ.ย.) สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2564 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในอังกฤษที่พุ่งแตะ 9% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี หลังจากที่ราคาอาหารและพลังงานต่างพุ่งขึ้นจากการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

 

ทั้งนี้ BoE คาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งสูงกว่า 10% ในปีนี้ (2565) อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ของ BoE สร้างความผิดหวังต่อตลาดที่คาดว่า BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่านี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้หลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ BoE ค่าเงินปอนด์ได้ร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดย ณ เวลา 18.44 น.ตามเวลาไทยวันนี้ (16 มิ.ย.) เงินปอนด์อ่อนค่าลง 0.24% สู่ระดับ 1.215 ดอลลาร์

นอกจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ เฟด (0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75%) และ BoE ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% แล้ว ยังมีธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 15 ปี ขณะที่ธนาคารกลางฮังการี บราซิล และไต้หวัน ก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน

 

ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า (ก.ค.) ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของ ECB ในรอบ 11 ปี

 

สัญญาณร้ายในตลาดพันธบัตรสหรัฐ
ด้าน ตลาดพันธบัตรสหรัฐ ได้เกิด ภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ (16 มิ.ย.) โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปีดีดตัวสูงกว่าอายุ 10 ปีและ 30 ปี หลังจากที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย


ข่าวระบุว่า การเกิดภาวะ inverted yield curve ในตลาดพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว เป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในอนาคต

ที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ


ก่อนหน้านี้ เหตุการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปีพุ่งขึ้นสูงกว่าพันธบัตรอายุ 30 ปีได้เคยเกิดขึ้นในปี 2549 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในเวลาเพียงไม่กี่ปีถัดมา
         

ในการประชุมวานนี้ เฟดได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 1.7% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.8% ในเดือนมี.ค.


ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.5% ในไตรมาสแรก (Q1/65) ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2565

 

ด้านตลาดหลักทรัพย์ ณ เวลา 17.59 น.ตามเวลาไทยวันนี้ (16 มิ.ย.) ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ได้เข้าสู่ ภาวะหมี แล้ว โดยดิ่งลง 21% และ 32% ตามลำดับจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เคยทำไว้ในเดือนม.ค.2565 และพ.ย.2564 ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 17% จากระดับสูงสุดที่ทำไว้ในเดือนม.ค.2565