“ดาว” แชร์ความสำเร็จ “โร้ดแม็ป” สู่การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนแบบ NET ZERO

11 มี.ค. 2565 | 20:51 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2565 | 00:41 น.
697

ผู้บริหารบริษัท ดาว (Dow) ผู้นำอุตสาหกรรมเคมีและเทคโนโลยีวัสดุสัญชาติอเมริกัน เผยว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน สร้างสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนนั้น เป็นพันธกิจสำคัญที่เป็นทั้งความท้าทายแต่ก็สร้างโอกาสทางธุรกิจได้มากเช่นกัน

จอน เพนไรซ์ ประธาน บริษัท ดาว เอเชีย แปซิฟิก (Dow Asia Pacific) และ ราฟาเอล กายูเอลา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัท ดาว ภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอินเดีย (Dow Europe, Middle East, Africa, India) ร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์และกลยุทธ์ธุรกิจของ “ดาว”  ในฐานะผู้นำธุรกิจเทคโนโลยีวัสดุและนวัตกรรม ที่กำลังมุ่งหน้าสู่การเป็น องค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเป้าหมาย Net Zero หรือการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดหรือเป็นศูนย์ ซึ่งกำลังเป็นวาระระดับโลกในขณะนี้ พวกเขาระบุว่า การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่เติบโตยั่งยืนและรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นความท้าทายที่เต็มไปด้วยโอกาสใหม่ ๆทางธุรกิจ  

 

ใน งาน  FAST TRACK to the NET ZERO จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันนี้ (11 มี.ค.) ณ ฟูจิ แกรนด์ บอลรูม โรงแรมนิกโก กรุงเทพฯ จอน เพนไรซ์ ประธานบริษัท ดาว เอเชีย แปซิฟิก (Dow Asia Pacific) เปิดเผยว่า โลกกำลังอยู่บนขอบริมของการปฏิวัติอุตสาหกรรมระลอกที่5 สิ่งที่เป็นความท้าทายที่สุด คือการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่คุ้มครองโลก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  

จอน เพนไรซ์ ประธานบริษัท ดาว เอเชีย แปซิฟิก

“เรารู้ว่าภูมิอากาศโลกกำลังเปลี่ยนแปลง การลดคาร์บอน (ก๊าซเรือนกระจก) ลดโลกร้อนจึงเป็นวาระสำคัญที่เราต้องทำ และหาคำตอบว่าจะต้องทำอย่างไร” ทั้งนี้ ประเทศทั่วโลกได้มีการใช้งบ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐลงทุนวิจัย-พัฒนาและสร้างนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด  

 

“สำหรับดาว ซึ่งเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมเคมีและเทคโนโลยีวัสดุ เราคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรจึงจะมีบรรจุภัณฑ์ที่กระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนน้อยลง สร้างขยะให้โลกน้อยลง นำมารีไซเคิลได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้เราคิดค้นและวางเป้าหมายว่าจะเป็นองค์กรที่ดำเนินการสอดคล้องกับเป้าหมาย Carbon Neutral (ความเป็นกลางทางคาร์บอน หมายถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์) ซึ่งเป้าหมายของโลกกำหนดให้ทำได้ภายในปีค.ศ. 2050

จอน เพนไรซ์ ประธานบริษัท ดาว เอเชีย แปซิฟิก

เพนไรซ์ยกตัวอย่าง เป้าหมายการปิดวงจรของขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกซึ่ง “ดาว” มีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและมีการวางเป้าหมายอย่างจริงจัง โดยบริษัทตั้งเป้าว่า บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดที่ใช้บรรจุผลิตภัณฑ์ของดาว ต้องสามารถนำไปใช้ใหม่ได้อีก (reusable) หรือนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด (recyclable) ภายในปีค.ศ. 2035 แต่ส่วนสำคัญที่เขาเชื่อว่าจะทำให้เป้าหมายเหล่านั้นเป็นจริงได้ คือการร่วมมือกับพันธมิตร ทำงานด้วยกัน และใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้มากขึ้น  

ด้าน ราฟาเอล กายูเอลา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัท ดาว ภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอินเดีย ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของดาวในหัวข้อ “Global Perspective: Challenges and Opportunities for Business from the Net Zero” บอกเล่าความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจของแผนเดินหน้าการเป็นองค์กร Net Zero โดยยกกรณีตัวอย่างจากต่างประเทศว่า

 

ในยุคแห่งการปฏิวัติทางดิจิทัล ซึ่งเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านในด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องตระหนักว่า ภาคการผลิตทางอุตสาหกรรมมีส่วนขับดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็จริง แต่ที่ผ่านมาในขณะเดียวกันเราก็จะพบว่า ท่ามกลางการเจริญเติบโตนั้น อุตสาหกรรมได้สร้างก๊าซโลกร้อนออกมามากมายหลายเท่า และก่อให้เกิดปัญหาด้านสภาวะภูมิอากาศโลกที่ปรวนแปรมากขึ้นตามมา ซึ่งประชาคมโลกก็ตระหนักดีว่าไม่สามารถจะให้เป็นเช่นนั้นต่อไป  

ราฟาเอล กายูเอลา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัท ดาว ภูมิภาคยุโรปฯ  ร่วมการสัมมนาผ่านระบบวิดีโอทางไกล

“เราสามารถหยุดยั้งเหตุการณ์นี้ได้ ตามข้อตกลงปารีสที่เรามุ่งไม่ให้อุณหภูมิโลกร้อนเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 - 2 องศา ส่วนเป้าหมายคาร์บอนเป็น 0 ก็ยิ่งยากและท้าทายเข้าไปอีก แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเช่นกัน”

 

 ผู้บริหารของดาวยกตัวอย่าง ในช่วง 5 ปีระหว่างปี 2014-2019 มีการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (ที่มีเป้าหมายมุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและสร้างสมดุลทางธรรมชาติมากขึ้น) อาทิ อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน การผลิตโปรตีนทางเลือก อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและระบบขนส่งไฟฟ้า รวมทั้งการเงินที่ยั่งยืน (sustainable finance) เปิดโอกาสให้กับตลาดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และ คาดว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีมูลค่า 150-450 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2050 ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสใหม่ๆทั้งในแง่การสร้างรายได้ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วย

 

“สถานการณ์เปลี่ยนผ่านของสภาพภูมิอากาศโลกเป็นอย่างไร โลกเราไม่มีเวลาจะชักช้าอีกต่อไปแล้ว เราต้องเริ่มเลยตั้งแต่วันนี้”  กายูเอลา ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัท ดาว ภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอินเดีย เปิดเผยว่า “ดาว” เองเป็นองค์กรที่ก่อตั้งมาเป็นเวลา 125 ปีแล้วในปีนี้ ความสำเร็จในอดีตทำให้บริษัทต้องพัฒนาต่อไปซึ่งเป้าหมายนั้นชัดเจนมาก คือ การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่มีเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือน้อยลงที่สุดหรือเหลือเป็นศูนย์   

 

“ใครไม่ขยับตัวลดคาร์บอนก็อาจต้องพบกับแรงกดดันในหลากหลายรูปแบบ เช่น การเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอน ยกตัวอย่างในปี 2019 สหภาพยุโรป (อียู) มี European Green Deal เป็นแพ็จเกจด้านอุตสาหกรรมและการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา”

 

สำหรับเขาเองเห็นว่า โลกในปัจจุบันใช้เวลาเฉลี่ยในการพัฒนานวัตกรรมได้เร็วขึ้น เทคโนโลยีโตแบบก้าวกระโดด ทำให้สามารถรับมือกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ ได้ดีขึ้น และถ้าหากเทคโนโลยีเติบโตอย่างเต็มที่ก็จะสามารถจัดการกับปัญหาได้ดีขึ้น และเร็วขึ้นด้วย

 

ดาวเองเป็นองค์กรใหญ่ที่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและเป็นขั้นเป็นตอน (phased strategy) เพื่อมุ่งหน้าสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม เช่น

  • การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 30% ภายในปี 2030 หรือเทียบเท่าการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนปีละ 5 ล้านเมตริกตัน และมุ่งให้เป็นศูนย์ (carbon neutral) ภายในปี 2050 โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่และนวัตกรรมใหม่ ขณะเดียวกับที่รักษาการเติบโตของผลประกอบการควบคู่กันไป  
  • การยุติสร้างขยะพลาสติกด้วยการทำให้บรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ดาว หรือเทียบเท่าปริมาณ 1 ล้านเมตริกตัน สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำเข้ากระบวนการรีไซเคิล ผ่านโครงการความร่วมมือกับพันธมิตร กรอบเวลาคือภายในปี 2030
  • ปิดวงจรสร้างขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกด้วยการตั้งเป้าภายในปี 2035 บรรจุภัณฑ์ของดาวทั้งหมด 100% ต้องนำมาใช้ได้ใหม่ หรือไม่ก็ต้องนำไปรีไซเคิลได้   

 

“ในช่วงที่โลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมนุษย์ถูกล็อกดาวน์ เรากลับพบว่าอัตราการปล่อยคาร์บอนลดไป 8% ในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นผีเสื้อกลับมา โลกดีขึ้น เมื่อมนุษย์ชะลอกิจกรรมบางอย่างลง เดินทางน้อยลง ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ผมมั่นใจว่าเราจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสรรสร้างสมดุลระหว่างมนุษย์และธรรมชาติให้กลับคืนมา และขณะเดียวกันเราจะสร้างโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กันไป”