โอกาสในวิกฤตโลกรวน 3มิติ"อีโคดีไซน์" สร้างชุมชนยั่งยืน รับเทรนด์ Net Zero

11 มี.ค. 2565 | 17:08 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2565 | 00:19 น.

อาจารย์สถาปัตย์ ม.เกษตรฯ แนะใช้การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม(อีโค ดีไซน์) รับเทรนด์ Net Zero พัฒนาโครงการสร้างเมืองอัจฉริยะ แก้ปัญหาครบ 3 มิติ  สร้างทางเลือกหรือพัฒนาโซลูชั่นอย่างชาญฉลาด ชี้ช่องสร้างโอกาสในวิกฤตโดยต้องพร้อมแข่งขันและทันกิน

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน(RISC) กล่าวตอนหนึ่งในการสัมมนา Fast Track to the Net Zero ถึงความก้าวหน้าของการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนไดออกไซด์ จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า ภาวะโลกรวน หรือ Climate Change เป็นปัญหาที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ 

 

อุณหภูมิประเทศไทยเฉลี่ยรอบ 100 ปีมานี้ ร้อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และถี่มากขึ้นในปีหลัง ๆ  โดยที่อุณหภูมิร่างกายมนุษย์อยู่ที่ 36.-37.2 องศา นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องพยายามลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 2 องศา เพราะโลกที่ร้อนขึ้นเพียง 2 องศา ก็ทำให้ทั้งพืชและสัตว์ตายเกือบหมด 

ในปี 2562 มีภัยธรรมชาติรุนแรงทั่วโลกถึง 820 ครั้ง เฉลี่ยวันละมากกว่า 2 ครั้ง น้ำแข็งขั้วโลกละลาย เกิดภัยธรรมชาติถี่ขึ้นรุนแรงขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า คลื่นความร้อน หรือคลื่นความหนาว    ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 2.7-3 องศา ไม่มีใครรอดแน่ 

 

ดร.สิงห์ชี้ด้วยว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังต่อเนื่องถึงปัญหาสุขภาพ สังคม และกระทบด้านเศรษฐกิจด้วย เพราะเมื่อเกิดคลื่นความร้อน ผู้คนต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ยิ่งใช้มากราคาพลังงานก็เพิ่มสูง และต้องเร่งแสวงหาพลังงานเพิ่ม ธรรมชาติเสียสมดุลย์รุนแรงขึ้น 

ในมิติการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม(อีโค ดีไซน์) เพื่อสร้างชุมชนหรือเมืองที่มีความยืดหยุ่น สามารถจะปรับตัว เมื่อเผชิญภัยคุกคาม แม้ล้มแล้วลุกขึ้นมาและสามารถเดินต่อไปได้ ที่เรียกกันว่าเมืองใหม่ หรือเมืองอัจฉริยะ ต้องมีกรอบแผนงานให้เป็นเมือง หรือโครงการพัฒนาที่ออกแบบไว้รองรับการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยคำนึงถึงปัญหา 3 มิติ คือ 1.ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2.การอยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐาน และ 3.ด้านสังคมและเศรษฐกิจ

 

ภายใต้ 3 มิติดังกล่าว ในด้านปัญหาสามารถแยกแยะได้หลากหลาย อาทิ ปัญหาเรื่องน้ำ มีทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง การกัดเซาะ น้ำเค็มรุก ภาวะอากาศมีปัญหาเรื่องร้อนจัด ปัญหาฝุ่นจิ๋ว  ด้านที่พักอาศัยและโครงสร้างพื้นฐาน อาจมีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ สุขภาพ ภัยพิบัติ  ความปลอดภัย ฯลฯ 

 

ปัญหาแต่ละเรื่องอาจมีแนวทาง เทคโนโลยี หรือสูตรแก้แตกต่างกันออกไป  จึงต้องพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด โดยบางโซลูชั่นอาจแก้ได้มากกว่า 1 ปัญหา รวมทั้งบางปัญหาอาจยังไม่มีโซลูชันมาแก้โดยตรง แต่ถ้าสามารถโฟกัสปัญหาแน่ชัดมากเท่าไหร่ ก็จะกลับเป็นโอกาสในการพัฒนาโซลูชันใหม่ ไม่ว่าจะในเชิงลดหรือแก้ไขผลกระทบ มารับมือได้ต่อไป ทำให้กลับมาเป็นจุดแข็งของการออกแบบพัฒนาโครงการ หรือเมือง ที่ตอบโจทย์ผู้พักอาศัยมากกว่า

 

ดร.สิงห์ชี้ด้วยว่า แนวคิดการออกแบบโครงการหรือพัฒนาเมืองเชิงสิ่งแวดล้อม(Eco Design) เป็นมิติหนึ่งของการรับมือและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ดังนั้น ปัญหาภาวะโลกรวนที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤต แต่ในวิกฤตนั้นก็มีโอกาสแฝงอยู่ด้วย ยิ่งเป็นวิกฤตใหญ่ยิ่งเป็นโอกาส แต่ต้องใช้ความพยายามในการแข่งขันและต้องเร็วมากพอ