“บีซีพีจี”อัดเฉียดแสนล้าน ลุยพลังงานหมุนเวียน ดันรายได้โตเท่าตัว

21 ก.พ. 2565 | 13:47 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2565 | 20:58 น.

บีซีพีจี ลุยพัฒนาพลังงานหมุนเวียน กางแผน 5 ปี ทุ่มงบเกือบ 1 แสนล้านบาท เดินหน้าพัฒนาทั้งพลังงานลม แสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ ทั้งในและต่างประเทศ หวังดันรายได้และกำไรเติบโตเท่าตัว

 

นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรม การผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนของบริษัทในระยะ 5 ปี (2565-2569) จะดำเนินงานภายใต้แผนกลยุทธ์ “Running at Lightning Speed” โดยวางเป้าหมายขยายการเติบโตขึ้น 100% หรือเติบโตเท่าตัวจากปัจจุบัน ทั้งด้านรายได้ (Revenue) และกำลังการผลิต (Generation Capacity)

 

จาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ธุรกิจบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (smart energy solution) อาทิ ธุรกิจผลิต และจำหน่ายระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ แบตเตอรี่ ธุรกิจการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ฯลฯ และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ (smart infrastructure) อาทิ ธุรกิจพัฒนาเมืองอัฉริยะ ให้สมบูรณ์ครบวงจรทั้งด้าน พลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้วยงบการลงทุนราว 95,000 ล้านบาท

 

“บีซีพีจี”อัดเฉียดแสนล้าน ลุยพลังงานหมุนเวียน ดันรายได้โตเท่าตัว

 

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการลงทุนและได้รับผลตอบแทนที่รวดเร็ว และคุ้มค่าตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยความพร้อมจากเงินลงทุนที่มีอยู่เดิม 65,000 ล้านบาท รวมกับเม็ดเงินที่จะได้รับจากการขายโครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ทำให้บริษัทฯมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 30,000 ล้านบาท เพียงพอสำหรับการลงทุนตามแผน

 

“บริษัทมีโครงการและแผนการลงทุนในช่วง 2 ปีนี้ ที่ต้องใช้เงินเกือบ 70,000 ล้านบาท โดยปี 2565 ตั้งงบลงทุนที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ แม้จะเป็นสินทรัพย์ที่ดี มีกระแสเงินสดมั่นคง แต่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงการใหม่เพื่อสร้างความเติบโต (Growth) ค่อนข้างนานกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่น ซึ่งอาจจะตอบสนองกลยุทธ์การขยายการเติบโตได้ไม่ทันการณ์ การขายโครงการฯ จึงเป็นการเพิ่มความสามารถในการลงทุนของบริษัทให้มากขึ้น ทำให้ขยายการลงทุนใหม่เพื่อหารายได้มาทดแทน  Adder ที่กำลังจะหมดลงได้ด้วย ทำให้ต้นทุนทางการเงินโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ และสามารถเติบโตได้ตามแผนโดยไม่ต้องเพิ่มทุนแต่อย่างใด”

 

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตกลงที่จะขายโครงการโรงไฟฟ้าในมูลค่า 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14,600 ล้านบาท ในขณะที่โครงการมีมูลค่าทางบัญชี 12,295 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 คาดว่าจะรับรู้กำไรจากการขายหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ภายในไตรมาสที่1/2565

 

นายนิวัติ กล่าวอีกว่า สำหรับปี 2565 นี้ บริษัทจะมีการรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากการเปิดขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการต่างๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยาบูกิ และ โคมากาเนะ ในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ และโครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Smart City) กำลังการผลิต 4.9 เมกะวัตต์ โดยจะมีการนำระบบกักเก็บพลังงาน หรือ แบตเตอรี่ ไปใช้ในการบริหารจัดการพลังงานที่โครงการนี้อีกด้วย รวมถึงจะมีโครงการที่สามารถบรรลุข้อตกลงในการซื้อกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย

 

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศแถบเอเชีย และแถบอินโดจีน (Indochina) อาทิ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศสูง สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานทดแทนสูง เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงฟอสซิล ฯลฯ

 

“บีซีพีจี ตั้งเป้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ไต้หวัน ด้วยกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ใน 5 ปี ข้างหน้า ขณะที่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มีสิทธิในการร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด1,600 เมกะวัตต์ และสำหรับประเทศไทยมีแผนเข้าลงทุนโดยการควบรวมกิจการในโครงการที่น่าสนใจเป็นไปตามกรอบกลยุทธ์ที่วางไว้”

 

ขณะที่การดำเนินงาน Net Zero บีซีพีจีตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2030 ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดซับคาร์บอน ตั้งเป้าปลูกป่าในประเทศไทย 1,000 ไร่ ใน 2 ปี และทยอยปลูกป่าในประเทศที่มีโครงการฯ อีกกว่า 10,000 ไร่ ขณะเดียวกันยังเป็นหนึ่งในผู้จัดตั้ง Carbon Markets Club แพลทฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการแก้ปัญหาโลกร้อนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกันได้ตามความสมัครใจอีกด้วย

 

ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,669 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.4 % เมื่อเทียบปี 2563 ที่มีรายได้รวมเท่ากับ 4,231 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 2,284 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.6 % จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติเท่ากับ 1,959 ล้านบาท 

 

ปัจจุบัน บีซีพีจีมีกำลังการผลิตทั้งหมด 1,108 เมกะวัตต์ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เรียบร้อยแล้ว 345 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างพัฒนา 764 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งหมดภายในปี 2567

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3759 วันที่ 20 – 23 กุมภาพันธ์ 2565