ย้อนประวัติศาสตร์เหตุการณ์ “น้ำมันรั่วในทะเล” ครั้งใหญ่ของโลก

26 ม.ค. 2565 | 13:02 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2565 | 00:01 น.
2.0 k

เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเลเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลก สิ่งที่มนุษย์พึงตระหนักก็คือ แต่ละครั้งที่เกิดเหตุลักษณะนี้ ได้สร้างความสูญเสียมากมายมหาศาลทั้งทางเศรษฐกิจและทางระบบนิเวศอย่างที่ไม่ควรจะลืมกันง่าย ๆ

จากแบบจำลอง OilMap ของ กรมควบคุมมลพิษ แสดงให้เห็นว่า กลุ่มน้ำมันดิบที่รั่วไหล จากท่อใต้ทะเลของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด(มหาชน) ในวันนี้ (26 ม.ค.) อาจเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งทะเลบริเวณหาดแม่รำพึง จนถึงบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ในเวลาประมาณ 17.00 น.ของวันที่ 28 มกราคมนี้ โดยคาดว่าจะมีน้ำมันไหลเข้าพื้นที่ประมาณ 180,000 ลิตร

 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เราต้องหวนนึกถึงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตนับครั้งไม่ถ้วน  แม้ว่าปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ยังถือว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเลครั้งใหญ่หลายครั้งที่มีเคยมีมาในประวัติศาสตร์โลก แต่ทุกครั้งก็ได้สร้างความสูญเสียมากมายมหาศาลทั้งทางเศรษฐกิจและทางระบบนิเวศในทะเลและชายฝั่ง ดังเช่นเหตุการณ์ในอดีตเหล่านี้ 

เรือบรรทุกน้ำมันเอ็กซอน วัลเดซ ชนแนวปะการัง น้ำมันรั่วไหล 10.8 ล้านบาร์เรล

ในปี 2532 เรือบรรทุกน้ำมันเอ็กซอน วัลเดซ ของบริษัทเอ็กซอน โมบิล หรือเอสโซ ซึ่งบรรทุกน้ำมันราว 750,000 บาร์เรล จากอลาสกามุ่งหน้าไปยังแคลิฟอร์เนีย ได้เกิดอุบัติเหตุชนกับแนวปะการังบริเวณช่องแคบพรินซ์ วิลเลียม นอกชายฝั่งอลาสกา ซึ่งข่าวระบุว่าเป็นความประมาทของกัปตันเรือ ทำให้มีน้ำมันดิบรั่วออกมาจากเรือ 250,000-750,000 บาร์เรล หรือบางกระแสว่ามากถึง 10.8 ล้านบาร์เรล หรือกว่า 1.7 พันล้านลิตร

 

บริเวณช่องแคบดังกล่าว สามารถเข้าได้เฉพาะทางเฮลิคอปเตอร์และทางเรือเท่านั้น จึงสร้างความเสียหายบริเวณพื้นที่ชายฝั่งเป็นแนวยาวถึง 2,100 กม. ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลราว 10,000 ตร.กม. ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลทั้งปลา แมวน้ำ และนกทะเลจำนวนมาก

เจ้าหน้าที่ระดมฉีดชำระคราบน้ำมันริมชายฝั่งจากเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันเอ็กซอน วัลเดซชนปะการัง

น้ำมันดิบรั่วไหลในอ่าวเปอร์เซียปี 2534

ในช่วงที่มี สงครามอ่าวเปอร์เซีย เกิดเหตุน้ำมันดิบของคูเวตรั่วไหลลงสู่อ่าวเปอร์เซียมากถึง 240-336 ล้านแกลลอน หรือราว 1,000 – 1,500 ล้านลิตร ครอบคลุมพื้นที่ใหญ่กว่าเกาะฮาวายทั้งเกาะ เหตุเกิดจากทหารอิรักที่ยกทัพบุกยึดคูเวตได้เปิดวาล์วบ่อน้ำมัน 600 บ่อและท่อส่งน้ำมัน ระหว่างถอนทหารออกจากคูเวต เพื่อขัดขวางทหารอเมริกันไม่ให้โต้กลับได้เร็วเกินไปนัก เหตุการณ์ครั้งนั้นมีการเผาบ่อน้ำมันอีกราว 1-1.5 พันล้านบาร์เรลด้วย ซึ่งกว่าจะดับไฟที่ลุกโชนเหนือบ่อน้ำมันได้ต้องใช้เวลานานนับ 10 เดือน

 

จากรายงานของยูเนสโกระบุว่า เหตุน้ำมันรั่วไหลในอ่าวเปอร์เซียครั้งนั้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการประมงท้องถิ่นเพียงเล็กน้อย ราวครึ่งหนึ่งของคราบน้ำมันได้ระเหยกลายเป็นไอ อีกราว 1 ใน 8 ได้รับการชำระล้าง ขณะที่ 1 ใน 4 ซัดเข้าชายฝั่งของซาอุดีอาระเบีย

คราบน้ำมันที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ

กองกำลังพันธมิตรนำโดยสหรัฐได้เข้าดำเนินการชำระคราบน้ำมันโดยใช้ระเบิดสมาร์ทบอม์หยุดยั้งการรั่วไหลของน้ำมันจากท่อส่งน้ำมัน แต่การฟื้นฟูต้องชะลอออกไปชั่วขณะกระทั่งสงครามยุติลงแล้ว ระหว่างนั้นมีการวางทุ่นกักน้ำมัน (boom) เพื่อดักจับคราบน้ำมันซึ่งเกิดไฟลุกโชนกลางอ่าวเปอร์เซียเป็นวงกว้างขนาด 25 ไมล์ นอกจากนี้ยังใช้อุปกรณ์สกิมเมอร์ (skimmer) 21 ตัว เพื่อนำคราบน้ำมันไปเก็บในภาชนะที่เตรียมไว้บนเรือ แล้วใช้รถบรรทุกดูดคราบน้ำมันไปทิ้ง ทั้งหมดนี้สามารถกำจัดคราบน้ำมันได้ราว 58.8 ล้านแกลลอน หรือกว่า 267 ล้านลิตร

 

เรือบรรทุกน้ำมันระเบิดนอกชายฝั่งอังโกลา น้ำมันดิบรั่วไหล 80 ตารางไมล์

อีกเหตุการณ์ในปี 2534 ระหว่างที่ เรือบรรทุกน้ำมันเอบีที ซัมเมอร์ ที่บรรทุกน้ำมันเต็มลำเรือกำลังมุ่งหน้าไปยังเมืองรอตเทอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เกิดระเบิดระหว่างแล่นห่างจากชายฝั่งอังโกลา 900 ไมล์ ทำให้น้ำมันดิบทั้งลำเรือราว 80 ล้านแกลลอน หรือกว่า 363 ล้านลิตร ไหลลงสู่ทะเลกินบริเวณกว้างถึง 80 ตารางไมล์ ก่อนที่เรือจะระเบิดครั้งสุดท้ายและจมลงสู่ใต้ทะเลลึกในอีก 3 วันให้หลัง

 

เหตุการณ์ครั้งนั้น ยังโชคดีที่เกิดห่างจากชายฝั่งมาก ประกอบกับเกิดคลื่นลมแรงทำให้น้ำมันถูกพัดกระจัดกระจายจนแทบไม่ส่งผลต่อระบบนิเวศ

 

เรือบรรทุกน้ำมัน “เพรสทีจ” ล่ม น้ำมันรั่วไหล 20 ล้านแกลลอน

เรือบรรทุกน้ำมันเพรสทีจ หนัก 77,000 ตัน เผชิญกับพายุหนักล่มลงกลางมหาสมุทรเมื่อปลายปี 2545 เหตุจากขณะออกเดินทางได้ประสบพายุ แต่รัฐบาลสเปน ฝรั่งเศส และโปรตุเกส ปฏิเสธไม่ยอมให้เทียบท่า เพราะกลัวว่าเรือจะล่ม สุดท้ายเรือลำนี้ก็ล่มจริงๆ จากอุบัติเหตุน้ำมันถังหนึ่งจากทั้งหมด 12 ถัง ได้เกิดลุกไหม้กระทั่งเรือหักเป็นสองท่อนและจมลงสู่ก้นมหาสมุทร

 

คราบน้ำมันจำนวน 20 ล้านแกลลอน ได้ลอยเป็นแพยาว สร้างความเสียหายให้กับชายฝั่งของทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งต้องช่วยกันทำความสะอาดคราบน้ำมันดิบนั้นด้วยอุปกรณ์ควบคุมและกำจัดคราบน้ำมันดิบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้วิธีวางทุ่นกักน้ำมันเพื่อดักจับคราบน้ำมัน และใช้อุปกรณ์สกิมเมอร์เพื่อนำคราบน้ำมันไปเก็บในภาชนะที่เตรียมไว้บนเรือ ตลอดจนอุปกรณ์ดูดซับน้ำมันอื่นๆ ทั้งที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ และที่มาจากธรรมชาติ

 

น้ำมันรั่ว 4.9 ล้านบาร์เรลจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน “ดีพวอเทอร์ ฮอไรซอน” กลางอ่าวเม็กซิโก

แท่นขุดเจาะน้ำมัน “ดีพวอเทอร์ ฮอไรซอน” ตั้งอยู่นอกชายฝั่งสหรัฐ เป็นของบริษัท “บริติช ปริโตเลียม” หรือ “บีพี” บริษัทผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของอังกฤษ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2553 ได้เกิดเหตุระเบิดที่แท่นขุดเจาะดังกล่าวขณะคนงานกำลังขุดเจาะน้ำมันที่ระดับความลึก 1,500 เมตร เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิตทันที 11 ราย บาดเจ็บ 17 ราย

ภาพถ่ายทางอากาศคราบน้ำมันที่ไหลจากแท่นขุดเจาะ Deepwater Horizon

เหตุระเบิดครั้งนั้นทำให้น้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโกมาก ถึง 4.9 ล้านบาร์เรล หรือกว่า 779 ล้านลิตร ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์การรั่วไหลของน้ำมันดิบครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ชายฝั่งของสหรัฐ ปนเปื้อนด้วยคราบน้ำมันดิบเป็นแนวยาวถึง 1,728 กิโลเมตร สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศและอุตสาหกรรมประมงอย่างประเมินค่าไม่ได้

การระดมดับไฟที่แท่นขุดเจาะ Deepwater Horizon

คราบน้ำมันทำให้ทั้งปะการังและสัตว์ทะเลอย่างเต่าและนกหายาก ตายไปอย่างน้อย 8,000 ตัว และยังทำให้บริเวณแนวชายฝั่งรัฐเท็กซัส หลุยเซียนา มิสซิสซิปปี อลาบามา และฟลอริดา ต้องเผชิญกับปัญหาคราบน้ำมันตกค้าง บริษัทบีพีซึ่งเป็นเจ้าของแท่นระบุว่า บริษัทต้องใช้เวลานาน 87 วัน ทำความสะอาดคราบน้ำมันทั้งหมดรวมทั้งการกู้แท่นขุดเจาะที่จมลงใต้ทะเลด้วย

 

สำหรับขั้นตอนการทำความสะอาดคราบน้ำมันนั้น สิ่งแรกคือการปิดรอยรั่วของบ่อน้ำมันเสียก่อน จากนั้นมีการโปรยสารกระจาย (dispersant) ซึ่งเป็นสารเร่งจำกัดการแพร่กระจายของคราบน้ำมัน และใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ขจัดน้ำมันบนผิวน้ำ อาทิ การใช้เรือตักคราบน้ำมัน การใช้ทุ่นลอยความยาวกว่า 5 ล้าน 5 แสนฟุตเพื่อดักจับและซับคราบน้ำมัน การใช้สารเคมีดูดซับน้ำมันโปรยลงผิวน้ำ รวมถึงการเผาเพื่อกำจัดน้ำมัน ซึ่งอย่างหลังนี้ เป็นวิธีที่ยิ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น