คริปโทระส่ำต่อเนื่อง เม็ดเงินไหลออกสูงเป็นประวัติการณ์

11 ม.ค. 2565 | 13:52 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2565 | 21:01 น.
1.4 k

หลังเฟดส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ย ก็ส่งผลปั่นป่วนตลาดคริปโทอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาสกุลเงินหลักอย่างบิตคอยน์ร่วงติดต่อทำสถิติ และมีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ 207 ล้านดอลลาร์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

รายงานจาก CoinShares ซึ่งเป็นบริษัทจัดการ สินทรัพย์ดิจิทัล ระบุวันนี้ (11 ม.ค.) ว่า มีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดผลิตภัณฑ์การลงทุนและกองทุน สกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ถึง 207 ล้านดอลลาร์ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการไหลออกติดต่อกันยาวนานถึง 4 สัปดาห์นับตั้งแต่กลางเดือนธ.ค. 2564 คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 465 ล้านดอลลาร์

 

รายงานระบุว่า เม็ดเงินที่ไหลออกจากสกุลเงินบิตคอยน์ซึ่งเป็นสกุลเงินคริปโทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในโลก มีจำนวนมากถึง 107 ล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 7 ม.ค.65

 

นาย เจมส์ บัทเทอร์ฟิลล์ นักยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนของ CoinShares เปิดเผยว่า การที่มีเม็ดเงินไหลออกจำนวนมากจากตลาดคริปโทนั้น บ่งชี้ว่านักลงทุนมีปฏิกิริยาต่อรายงานการประชุมเดือนธ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ระบุว่า เฟดมีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และจากการที่นักลงทุนมีความกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆนี้

เฟดขึ้นดอกเบี้ยเกี่ยวกับคริปโทอย่างไร

ทั้งนี้ การใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินของเฟดถือเป็นปัจจัยลบต่อบรรดาสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งรวมถึงสกุลเงินคริปโท เนื่องจากการใช้นโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้สภาพคล่องอยู่ในภาวะที่ตึงตัวมากขึ้น และทำให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้นด้วย

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

นับตั้งแต่ต้นปี 2565 บิตคอยน์ร่วงลงเกือบ 10% และในวันจันทร์ที่ผ่านมา (10 ม.ค.) ราคาบิตคอยน์ดิ่งหลุดจากระดับ 40,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2564

 

สำหรับรายงานการประชุมเฟดเดือนธ.ค.ซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดทั่วโลกนั้น ระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มเศรษฐกิจ ภาวะตลาดแรงงาน และเงินเฟ้อ ก็ถือเป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่รวดเร็วขึ้น หรือรวดเร็วกว่าที่กรรมการเฟดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่กรรมการเฟดบางส่วนมองว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสมที่จะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟดในทันทีหลังจากที่มีการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

ขณะนี้ สิ่งที่นักลงทุนกำลังเฝ้าจับตา คือตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่จะเปิดเผยในวันพุธ (12 ม.ค.) ซึ่งจะเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 7.1% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 6.8% ในเดือนพ.ย.

 

นอกจากนี้ คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะพุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 4.9% ในเดือนพ.ย.

 

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นเดือนที่เฟดยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ขณะเดียวกันโกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจใหญ่ของสหรัฐ คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งในปีนี้ ซึ่งมากกว่าที่มีการคาดหมายกันไว้เดิมว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง  นอกจากนี้ ยังคาดว่าสหรัฐจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือนก.ค.หรือเร็วกว่านั้น จากปัจจุบันที่พุ่งสูงกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์