“คำต่อคำ” แถลงการณ์ประชุมนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ ฉบับทิ้งทวนปี 64

16 ธ.ค. 2564 | 08:46 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2564 | 16:13 น.
1.1 k

อ่านเนื้อหา “คำต่อคำ” แถลงการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) เมื่อวันพุธ (15 ธ.ค.) ซึ่งเป็นการประชุม FOMC ครั้งสุดท้ายสำหรับปี 2564

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลัง การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธที่ 15 ธ.ค.ตามเวลาสหรัฐ โดยระบุว่า เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสนับสนุน เศรษฐกิจสหรัฐ ในช่วงเวลาที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในขณะนี้ โดยเฟดเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานให้ขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา

 

ท่ามกลางความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการใช้นโยบายสนับสนุนที่แข็งแกร่งนั้น สัญญาณบ่งชี้ถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานยังคงมีความแข็งแกร่งอย่างมาก อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่การระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อภาคส่วนเหล่านี้

 

ตัวเลขการจ้างงาน ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และอัตราว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาวะไร้สมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ซึ่งเป็นผลมาจากโรคระบาด รวมทั้งการเปิดเศรษฐกิจนั้น ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ส่วนภาวะการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงมาตรการด้านนโยบายต่าง ๆ ที่สนับสนุนเศรษฐกิจ และการจัดสรรสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของสหรัฐ

ตัวเลขการจ้างงาน ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

สำหรับ ทิศทางเศรษฐกิจ ในวันข้างหน้านั้น ยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยคณะกรรมการคาดว่าความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและภาวะติดขัดด้านอุปทานที่เริ่มบรรเทาลงนั้น จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน อีกทั้งช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจก็ยังคงเผชิญกับความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

 

คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และ อัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และจากการที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ในบางช่วงเวลา ทางคณะกรรมการจึงคาดว่าน่าจะเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะคงกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวต่อไปจนกว่าภาวะตลาดแรงงานจะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพตามที่เฟดประเมินไว้

เมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการจึงตัดสินใจปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเดือนละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ และปรับลดวงเงินซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) เดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนม.ค. 2565 เป็นต้นไป คณะกรรมการจะเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอย่างน้อยเดือนละ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ และถือครองตราสารหนี้ MBS อย่างน้อยเดือนละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าการปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์สุทธิในอัตราที่เท่ากันเช่นนี้ จะเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมในแต่ละเดือน อย่างไรก็ดี คณะกรรมการมีความพร้อมที่จะปรับอัตราการซื้อสินทรัพย์ หากพบว่าแนวโน้มเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการคาดว่าการซื้อและการถือครองสินทรัพย์เหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้ตลาดต่าง ๆ ดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่น และช่วยสนับสนุนภาวะด้านการเงินให้เป็นไปในลักษณะที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้จะช่วยให้สินเชื่อไหลเวียนไปสู่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

 

ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการจะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการจะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการจะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ

 

สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวล ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด, โธมัส ไอ บาร์กิน, ราฟาเอล ดับเบิลยู บอสติก, มิเชล ดับเบิลยู โบวแมน, ลาเอล เบรนาร์ด, ริชาร์ด เอช คลาริดา,แมรี ซี ดาลี, ชาร์ลส อีแวนส์, แรนดัล เค ควอร์เลส และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์