เอเวอร์แกรนด์หนี้ท่วม ระเบิดเวลาลูกใหม่จุดชนวนซับไพรม์เอเชีย

16 ก.ย. 2564 | 11:19 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2564 | 20:10 น.
13.6 k

ชาวจีนกว่าร้อยคนบุกสำนักงานใหญ่ของกลุ่ม "ไชน่า เอเวอร์แกรนด์" เรียกร้องให้บริษัทคืนเงินลงทุน หุ้นกู้ และเงินดาวน์โครงการ เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนเนื่องจากส่อเค้าว่าบิ๊กอสังหาฯเบอร์สองของจีนรายนี้ ใกล้ล้มละลาย! และผลที่จะตามมาก็ยิ่งน่าระทึกใจ  

หลังมีข่าวแพร่สะพัดว่า กลุ่มบริษัทเหิงต้า หรือ ไชน่าเอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande) กำลังประสบปัญหาทางการเงิน มีหนี้สินสูงถึง 1.97 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท (356,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) กลายเป็นธุรกิจเอกชนที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลก ชาวจีนกว่าร้อยคนก็บุกไปยังอาคารสำนักงานใหญ่ของกลุ่ม เรียกร้องให้บริษัทคืนเงินลงทุน หุ้นกู้ และเงินดาวน์โครงการพัฒนาต่าง ๆ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนเนื่องจากส่อเค้าว่า “เอเวอร์แกรนด์” หนึ่งในกลุ่มบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่สุดของจีนนั้น กำลังเผชิญภาวะล่อแหลม ใกล้ล้มละลายเต็มที  

 

การขยายตัวอย่างรวดเร็วและการไล่ซื้อกิจการต่าง ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เอเวอร์แกรนด์ในขณะนี้กำลังเผชิญกับ วิกฤติสภาพคล่องขั้นรุนแรง นักวิเคราะห์เชื่อว่าบริษัทอาจต้อง ผิดนัดชำระหนี้ ที่ใกล้ถึงกำหนดในเร็ว ๆนี้ และหากเป็นเช่นนั้น ก็จะก่อความเสี่ยงในวงกว้างต่อระบบการเงินของจีน และอาจจะรวมถึงโลกด้วย หากเอเวอร์แกรนด์ถึงทางตันใกล้ขั้นล้มละลาย ยังเป็นที่จับตากันว่ารัฐบาลจีนจำเป็นต้องยื่นมือเข้าอุ้มเพื่อสกัดกั้นความเสียหายแบบระเนนระนาดเป็นลูกโซ่ที่อาจเกิดขึ้นตามมาหรือไม่   

 

เอเวอร์แกรนด์หนี้ท่วม ระเบิดเวลาลูกใหม่จุดชนวนซับไพรม์เอเชีย

ถ้ายักษ์จีนล้มก็สะเทือนตลาดโลก

เศรษฐกิจจีนมีความเชื่อมโยงกับตลาดโลก ผู้เชี่ยวชาญเคยเตือนก่อนหน้านี้เกี่ยวกับปัญหาหนี้สินของเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลก เพราะหากอาณาจักรธุรกิจขนาดใหญ่นี้ล่มสลายลงในพริบตา ก็อาจสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคขึ้นได้ เช่นกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับกรณีฮันโบ สตีล (Hanbo Steel) ในเกาหลีใต้ เมื่อเดือนมกราคม 1997 (พ.ศ.2540) ซึ่งเป็นชนวนเส้นหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย

 

สำหรับวิกฤตหนี้สินทั่วโลกของเอเวอร์แกรนด์ ที่มีมากกว่า 3.56 แสนล้านดอลลาร์ในขณะนี้ แม้จะเป็นผู้ออกพันธบัตรในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐรายใหญ่ที่สุด แต่ก็กลายเป็นพันธบัตรขยะที่นักลงทุนเพียงไม่กี่รายต้องการถือในตอนนี้ ฮิลลาร์ด แม็คเบธ ผู้เขียน When the Bubble Bursts ได้โพสต์ไว้ในบล็อกของ Richardson Wealth ว่า พันธบัตรเอเวอร์แกรนด์ที่จะครบกำหนดในปี 2568 นั้น ปัจจุบันราคาซื้อขายต่ำกว่า 40 เซนต์ ซึ่งหมายความว่าตลาดเชื่อว่ามีโอกาสน้อยที่เอเวอร์แกรนด์จะสามารถชำระหนี้นี้ได้

เอเวอร์แกรนด์หนี้ท่วม ระเบิดเวลาลูกใหม่จุดชนวนซับไพรม์เอเชีย

ขณะเดียวกันราคาหุ้นของเอเวอร์แกรนด์ยังคงร่วงลงอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ต้นปีมาราคาหุ้นของบริษัทลดลงแล้วเกือบ 80% จนต่ำกว่าราคาพาร์เมื่อครั้งจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในปี 2009 แล้วด้วย

 

ปัญหาในระยะสั้นของเอเวอร์แกรนด์ คือ หนี้สิน ซึ่งหนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.97 ล้านล้านหยวน (ราว 10 ล้านล้านบาท หรือราว 3.56 แสนล้านดอลลาร์) ในปีที่ผ่านมา มูลค่าหุ้นเอเวอร์แกรนด์ ดิ่งลงมากกว่า 70% ขณะที่ผู้รับเหมาและซัพพลายเออร์หลายรายไม่ได้รับชำระเงินตรงเวลา มีข่าวเจ้าหนี้ต่าง ๆ ของยักษ์ใหญ่รายนี้ พากันฟ้องเรียกร้องหนี้ตลอดมา กระทั่งในปี 2563 มีข่าววงในรั่วไหลออกจากบริษัทว่า นายสวี เจียหยิ่น ประธานบริษัทยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลในการปรับโครงสร้างใหม่ ทำให้ตลาดตื่นตระหนก แม้ในภายหลังจะมีการแถลงว่าเรื่องดังกล่าวเป็นข่าวเท็จ แต่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา สวีประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานเอเวอร์แกรนด์เรียลเอสเตทกรุ๊ป ทำให้ตลาดมองว่านี่เป็นการไขก๊อกหนีปัญหาใช่หรือไม่

 

ทั้งนี้ ต้องย้อนกลับไปดูกันว่า อาณาจักรธุรกิจของเอเวอร์แกรนด์นั้นยิ่งใหญ่และจะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมหากยักษ์ล้มได้มากน้อยเพียงใด

 

เอเวอร์แกรนด์ หรือ ไชน่าเอเวอร์แกรนด์ เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนก่อตั้งในปี 1996 โดยนายสวี เจียหยิ่น มหาเศรษฐีนักธุรกิจที่สร้างตัวเองมาจากศูนย์ เขาผลักดันบริษัทกลายเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับสองของประเทศจีน และติดอันดับหนึ่งใน 150 บริษัทชั้นนำของโลกเมื่อพิจารณาจากรายได้ (จากข้อมูลของ Fortune 500) บริษัทมีพนักงานมากกว่า 123,000 คน และมีรายได้รวม 7.35 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020  มีการดำเนินธุรกิจโครงการมากกว่า 1,300 โครงการในกว่า 280 เมืองใหญ่  เอเวอร์แกรนด์สั่งสมความมั่งคั่งในช่วงหลายทศวรรษของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างรวดเร็วโดยอาศัยประโยชน์จากนโยบายการปฏิรูปของจีนที่เปิดโอกาสให้กับธุรกิจการพัฒนาที่ดิน

นายสวี เจียหยิ่น  ไขก๊อกลาออกเพื่อหนีปัญหาใช่หรือไม่

กิจการส่วนใหญ่ของเอเวอร์แกรนด์เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทได้เริ่มดำเนินการกระจายความเสี่ยงทั้งหมดไปยังกิจการนอกกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธุรกิจใหม่ดังกล่าวมีความหลากหลายตั้งแต่อุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่ม มีทั้งกิจการน้ำแร่และอาหารที่กำลังเฟื่องฟูด้วยแบรนด์ Evergrande Spring ไปจนถึงธุรกิจสวนสนุกสำหรับเด็ก ซึ่งใหญ่โตมโหฬารเสียยิ่งกว่าสวนสนุกของค่ายดิสนีย์ที่เป็นคู่แข่ง นอกจากนี้ เอเวอร์แกรนด์กรุ๊ปยังเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลกว่างโจว เอฟซี (เดิมคือกวางโจว เอเวอร์แกรนด์) และยังมีการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยว , อินเทอร์เน็ต , ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ , ธุรกิจประกันภัย รวมทั้งธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (Evergrande Auto ก่อตั้งในปี 2019 ที่ยังไม่เคยมีการทำตลาดรถยนต์รุ่นใดออกมา)

 

ถูกฟ้องชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง

ปัญหาขาดสภาพคล่องและหนี้สินที่ทบทวีทำให้เอเวอร์แกรนด์ถูกฟ้องร้องชำระหนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารไชน่ากวงฟา (China Guangfa Bank Co) ชนะคดีอายัดเงินฝากของเอเวอร์แกรนด์ได้ราว 20 ล้านดอลลาร์ แต่นั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหาหนี้สินที่ถูกซุกมานาน ไม่กี่วันหลังจากนั้น บรรดาซัพพลายเออร์ของเอเวอร์แกรนด์ พากันเริ่มฟ้องร้องคดีเบี้ยวหนี้ ซึ่งรวมถึงบริษัท Huaibei Mining Holdings Co ที่ฟ้องเรียกหนี้ค้างชำระจากเอเวอร์แกรนด์มูลค่าถึง 84 ล้านดอลลาร์

 

ข่าวระบุว่า บรรดาเจ้าหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ยังรวมถึงหน่วยงานภาครัฐเช่นสำนักงานที่ดินเมืองหลานโจว ซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อเร็ว ๆนี้ว่า มียอดหนี้สินที่เอเวอร์แกรนด์ค้างชำระอยู่เช่นกัน

 

ปัญหาหนี้ดังกล่าวทำให้บริษัทเอสแอนด์พี (S&P) หน่วยงานจัดอันดับเครดิต ปรับลดความน่าเชื่อถือของเอเวอร์แกรนด์จาก B- เป็น CCC (หรือลดลงสองระดับ) ในวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของพันธบัตรสกุลดอลลาร์สหรัฐที่ออกโดยเอเวอร์แกรนด์ จาก CCC+ เป็น CC-

 

"สภาพคล่องของเอเวอร์แกรนด์ลดลงอย่างรวดเร็วและมากกว่าที่เราคาดไว้ก่อนหน้านี้...ความเสี่ยงจากการไม่ชำระเงินของบริษัทกำลังทวีความรุนแรงขึ้น ไม่เพียงแต่สำหรับพันธบัตรสาธารณะที่จะครบกำหนดถ่ายถอนในปี 2565 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินเชื่อธนาคารและทรัสต์ และหนี้สินอื่นๆ ในอีก 12 เดือนข้างหน้าด้วย” S&P ระบุ หน่วยงานจัดอันดับเครดิตรายใหญ่อื่น ๆ รวมถึงมูดี้ส์ (Moodys) และฟิตช์ (Fitch) ได้ประกาศการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของเอเวอร์แกรนด์ในทิศทางเดียวกัน

 

บรรดานักลงทุนต่างพากันจับตาท่าทีของรัฐบาลจีนว่าจะยื่นมือเข้าช่วยแก้ไขปัญหาของเอเวอร์แกรนด์ รวมทั้งปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ตั้งเค้ามานานนี้อย่างไร เพราะหากยักษ์ใหญ่อย่างเอเวอร์แกรนด์ล้มครืน แรงกระเพื่อมสะเทือนไหวย่อมเกิดขึ้นในวงกว้าง

 

เมื่อที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (ซึ่งคือธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติจีนนั่นเอง) และคณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารและการประกันภัยแห่งประเทศจีนได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ “ไม่ปกติ” ในการกระตุ้นให้เอเวอร์แกรนด์ดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงด้านหนี้สิน ภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารของบริษัท ได้มีแถลงการณ์ออกมาว่า “เอเวอร์แกรนด์ ในฐานะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ ต้องใช้การจัดการเชิงกลยุทธ์ที่จัดทำโดยรัฐบาลกลางอย่างจริงจัง เพื่อให้แน่ใจว่าการพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์จะมีเสถียรภาพ และมุ่งมั่นที่จะทำให้การดำเนินงานมีความมั่นคง”

 

นอกจากนี้ ยังระบุกำชับให้เอเวอร์แกรนด์กระจายความเสี่ยงด้านหนี้สินอย่างแข็งขัน และรักษาเสถียรภาพของอสังหาริมทรัพย์และตลาดการเงิน ซึ่งฝ่ายบริหารของเอเวอร์แกรนด์ ตอบว่าจะดำเนินการอย่างเต็มที่ตามข้อกำหนดของรัฐบาลกลาง รวมถึงการลดความเสี่ยงด้านหนี้สิน หลังจากนั้นก็เริ่มเห็นความคืบหน้าบางประการ เช่นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า เอเวอร์แกรนด์ เจรจากับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเสียวหมี่ เพื่อขายหุ้นในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าออกไป  และเจรจาประสบผลสำเร็จกับเจ้าหนี้รายใหญ่เพื่อขอขยายสินเชื่อ แต่เนื่องจากภาระหนี้สินของเอเวอร์แกรนด์นั้นมีมากขึ้น  จึงยังคงต้องดำเนินการต่าง ๆ อีกมาก เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะล้มละลาย ที่หลายคนกริ่งเกรงว่า นี่อาจเป็นการจุดชนวนวิกฤติซับไพรม์ให้เกิดขึ้นอีกครั้งในเอเชีย

 

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะนักวิเคราะห์มองว่า มีสาเหตุที่คล้าย ๆ กันเกิดขึ้นกับกรณีของเอเวอร์แกรนด์ ที่ทำให้ต้องย้อนระลึกถึง เหตุการณ์ล้มละลายของบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brother) วาณิชธนกิจระดับโลก ซึ่งการล่มสลายของเลห์แมนฯ ในครั้งนั้นเป็นการล้มละลายที่ใหญ่หลวงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา และก่อให้เกิดวิกฤตซับไพร์มในปี 2008 (พ.ศ.2551)   

 

สาเหตุของวิกฤติที่ว่าคล้ายกันจนน่าสะพรึงก็คือ การกู้มาลงทุน หรือการเติบโตขึ้นมาด้วยหนี้ล้วน ๆ ทุกอย่างเริ่มต้นในช่วงเวลาตลาดขาขึ้น การเร่งขยายตัว ขยายการลงทุน ก่อหนี้ท่วมสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนสภาพคล่องต่ำลงเรื่อย ๆ เช่นกัน เงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น มาจากการกู้ยืมโดยใช้เครดิตและความน่าเชื่อถือ การขาดความระมัดระวังต่อแผนการลงทุน โดยประมาทไปว่าช่วงแรกคือช่วงที่อะไรๆ ก็ดูดีไปหมด แต่เมื่อขยายตัวอย่างบ้าคลั่งด้วยหนี้จำนวนมาก เมื่อขาดทุนขึ้นมา สภาพคล่องเงินสดก็หดแห้งไป  หายนะที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เอเวอร์แกรนด์ ตกอยู่ในสถานะอันตรายเช่นนี้ในปัจจุบัน

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงการวิเคราะห์ของฟิตช์ หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินว่า ภาคธุรกิจจำนวนมากอาจมีความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้นหากเอเวอร์แกรนด์ ผิดนัดชำระหนี้ แม้ว่าผลกระทบโดยรวมต่อภาคการธนาคารจะสามารถจัดการได้

 

“เราเชื่อว่าการผิดนัดชำระหนี้จะยิ่งทำให้สินเชื่อในกลุ่มผู้สร้างบ้านเกิดช่องว่างมากขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดปัญหากับธนาคารขนาดเล็กบางราย” รายงานของฟิตช์ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (14 ก.ย.) ระบุ ทั้งนี้ ฟิตช์ได้ ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป เป็น "CC" จากเดิม "CCC+" เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่าการผิดนัดชำระหนี้บางอย่างน่าจะเป็นไปได้

 

ท่าทีล่าสุดของผู้บริหารเอเวอร์แกรนด์

14 ก.ย. ที่ผ่านมา เอเวอร์แกรนด์ ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ที่บริษัทจดทะเบียนไว้ ระบุว่า ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อตรวจสอบหา “ทางออกที่เป็นไปได้ทุกอย่าง” ที่จะสามารถคลี่คลายปัญหาสภาพคล่องของบริษัท โดยบริษัทยืนยันว่า จะไม่ยอมล้มละลาย แต่กระนั้นก็ตาม ไม่มีสิ่งใดยืนยันว่า บริษัทจะสามารถหาเงินสดมาชำระหนี้ที่ถึงกำหนดได้ตามพันธะที่มีอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องชำระให้กับธนาคาร 2 แห่งในวันที่ 21 กันยายนนี้

 

บริษัทวิจัยการตลาด แคปิตอล อีโคโนมิคส์ วิเคราะห์ว่า ในเวลานี้ เอเวอร์แกรนด์ มีอสังหาริมทรัพย์ที่มีพันธะต้องสร้างให้แล้วเสร็จอีกราว 1.4 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่าราว 200,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้เกิดความวิตกกันว่า หากเอเวอร์แกรนด์ต้องล้มละลาย จะส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาฯทั้งหมด รวมไปถึงธนาคารและนักลงทุนอีกด้วย

 

“การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์ จะกลายเป็นบททดสอบต่อระบบการเงินของจีนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีมานี้” มาร์ค วิลเลียมส์ หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียของ แคปิตอล อีโคโนมิคส์ระบุ โดยเขาชี้ว่า ตอนนี้ตลาดอาจจะยังไม่วิตกว่าเรื่องราวหนี้สิน 3 แสนล้านดอลลาร์ของเอเวอร์แกรนด์จะส่งผลกระทบทางการเงินต่อเศรษฐกิจในภาพรวม แต่เมื่อใดก็ตามที่เอเวอร์แกรนด์เกิดผิดนัดชำระหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นมาจริง ๆ สภาพความสั่นกระเพื่อมในตลาดจะเกิดขึ้นในทันที