อสังหาฯไทยยังแกร่ง "เอเวอร์แกรนด์"ยักษ์จีนล้มไม่กระทบ

17 ก.ย. 2564 | 12:37 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2564 | 20:05 น.
1.2 k

วงการอสังหาฯ ชี้วิกฤติเอเวอร์แกรนด์ ยักษ์อสังหาฯจีน สายป่านขาดจ่อล้ม ไม่ลามมาไทย ผู้ประกอบการยันอสังหาฯยังแข็งแกร่ง ไม่ก่อหนี้เกินตัว ให้จับตานักลงทุนในกองทุน-ตราสารหนี้ อาจเสี่ยง “สมภพ” ยันจีนไม่ปล่อยให้ล้ม เพราะเป็นเครื่องจักรกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

 

การออกมายอมรับของ“เอเวอร์แกรนด์” หรือไชน่าเอเวอร์แกรนด์กรุ๊ป บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน ว่าขาดสภาพคล่อง อาจถึงขั้นล้มละลายจากการลงทุน หลายอย่างจนเกินตัว กระทั้งมีนักลงทุนจำนวนหนึ่งออกมาเรียกร้องขอชำระคืนเงินกู้และผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และสะท้อนจาก บริษัทจัดอันดับ อย่าง ฟิทช์ ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของเอเวอร์แกรนด์ เป็น CC จาก CCC+ เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา เพราะได้เห็นถึงสัญญาณบางอย่างที่ผิดปกติ โดยเฉพาะการผิดนัดชำระหนี้

 

 ผลพวงดังกล่าวสร้างความสั่นสะเทือนในวงกว้างภายในของจีนเองและกังวลว่าหากเอเวอร์แกรนด์ ถึงขั้นถูกปล่อยให้ล้มละลายอาจเป็นชนวนลุกลามทำให้เกิดวิกฤติซับไพร์มแห่งเอเชียขึ้นได้โดยเฉพาะอาจซ้ำเติมตลาดอสังหาฯในประเทศไทยที่อยู่ในภาวะสต็อกล้นมือ จากสถานการณ์โควิด-19

เอเวอร์แกรนด์ ไม่สะเทือนไทย

  นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด บริษัทวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของเมืองไทยสะท้อนว่า ปัญหาของเอเวอร์แกรนด์คงไม่ส่งผลมายังตลาดอสังหาฯในประเทศไทย เพราะบริษัทดังกล่าวไม่ได้เข้ามาลงทุนในไทย แต่หากเอเวอร์แกรนด์เกิดปัญหาจริง จะมีผลต่อคนจีนที่ซื้ออสังหาฯ ในบริษัทนั้นๆและอาจมีผลต่อเนื่องมายังกำลังซื้อหรือการตัดสินใจลงทุนในอสังหาฯในอนาคตของพวกเขา

ทั้งนี้ คงต้องรอเอเวอร์แกรนด์คืนเงินหรือว่าจัดการปัญหาต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน กรณีผลกระทบโดยตรงต่อตลาดอสังหาฯในไทยคงไม่มีรุนแรงแบบกรณีของเลห์แมน บราเธอร์ส ผู้ประกอบการหรือบริษัทอสังหาฯจากประเทศจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยก็ไม่มีแนวทางการดำเนินกิจการแบบเอเวอร์แกรนด์ขณะที่ผู้ประกอบการไทยเองก็ไม่มีการก่อหนี้สินเกินตัวแบบนี้ ยังคงมีวินัยทางการเงิน และมีการชะลอการลงทุนไปบ้างแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดและภาวะเศรษฐกิจ

 

ลงทุนในกองทุน-ตราสารหนี้ผวา

   ในทางกลับกันกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเอเวอร์แกรนด์โดยตรงและอาจเกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยประเทศเดียวคือ กลุ่มของนักลงทุนรายย่อยหรือสถาบันต่างๆ ที่เข้าไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้หรือตลาด หลักทรัพย์ประเทศจีน และฮ่องกงโดยการซื้อกองทุนและตราสารหนี้ เช่น กองทุนตราสารหนี้จีน กองทุนตราสารหนี้เอเชีย กองทุนตราสารหนี้ Emerging Market ตอนนี้ควรต้องมีการเช็คดูว่ามีการลงทุนในตราสารหนี้ของเอเวอร์แกรนด์บ้างหรือเปล่า เพราะได้รับผลกระทบแน่นอน ถ้าเอเวอร์แกรนด์เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งบางกองทุนมีการขายออกไปก่อนหน้านี้แล้ว เพราะสัญญาณของปัญหามีให้เห็นมาก่อนหน้านี้แล้ว

 อสังหาฯ-แบงก์ไทยมีบทเรียน

แหล่งข่าวจากสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยระบุว่า กรณีดังกล่าวไม่น่าจะกระทบต่อตลาดอสังหาฯไทย เพราะที่ผ่านมาทั้งผู้ประกอบการและสถาบันการเงินได้รับบทเรียนมาตั้งแต่วิกฤติปี 2540 ซับไพร์มสหรัฐฯ สะท้อนจากความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อโครงการและรายย่อย การชะลอพัฒนาโครงการของแต่ละค่าย

นักเศรษฐศาสตร์ยันจีนไม่ปล่อยให้ล้ม

 นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ มองว่า กรณีของเอเวอร์แกรนด์จีนคงไม่ปล่อยให้บริษัทอสังหาฯขนาดใหญ่ล้มลง เพราะธุรกิจดังกล่าวเป็นเครื่องจักรกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศจีนยังตั้งวงเงินสำรองไว้สูง ที่ผ่านมาการขาดสภาพคล่องของบริษัทขนาดใหญ่ในจีนมีเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่มีรายใด

“รัฐบาลจีน คงไม่ปล่อยให้ล้ม เพราะที่ผ่านมามีการจัดระเบียบบริษัทที่ใช้จ่ายเกินตัว หากเทียบกับซับไพร์มสหรัฐฯ แล้ว เป็นไปได้ยาก เพราะเรื่องนี้เล็กกว่ามาก แบงก์ชาติของจีนมีเงินสำรองสูงติด 1 ใน 3 ของโลก ขณะนี้รัฐบาลจีนต้องการสั่งสอนบริษัทที่ลงทุนเกินตัว และมองว่าเอเวอร์แกรนด์ล้มไม่ได้เพราะ รายได้รัฐบาลมาจากอสังหาฯ และที่ดินก็เป็นของรัฐ”

อสังหาฯไทยมีขนาดเล็ก

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) กล่าวว่า กรณีการผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์นั้น เป็นช็อคอีเว้นท์ที่ใหญ่ สำหรับเศรษฐกิจจีน เพราะดูจากหนี้สินมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นอันดับ 2 ของอสังหาริมทรัพย์จีน ย่อมกระทบดีเวลลอปเปอร์ที่อยู่ในซัพพลายเชน หรือคนซื้อบ้านหรือลงทุนกับเอเวอร์แกรนด์ รวมทั้งเจ้าหนี้และธนาคารเจ้าหนี้ เหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อระบบการเงินของจีน

  ส่วนผลกระทบต่อไทยนั้นคงมีจำกัด เพราะอสังหาริมทรัพย์ของไทย มีความแตกต่างกัน หากย้อนกลับไปดูเศรษฐกิจจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเร่งเติบโตด้วยอสังหาฯ และเกิดฟองสบู่จากการก่อสร้างที่ไม่สะท้อนดีมานด์แท้จริง ทำให้จีนเข้มงวดเกี่ยวกับฟองสบู่อสังหาเมื่อปีที่แล้ว แต่เมืองไทยอสังหาฯไม่ได้มีปัญหา สัดส่วนผู้ประกอบการมีไม่มากขนาดนั้น และไทยมีการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ด้วยโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

  ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลจีนเข้ามาดูแลเพื่อมิให้ลามทั้งเจ้าหนี้ แบงก์ และผู้ลงทุนหรือผู้บริโภค สามารถป้องกันมิให้ลามออกไปได้ และผลกระทบไทยไม่น่าจะมีทางตรง หรือผลกระทบทางอ้อมก็น่าจะน้อย และไม่น่าจะมีนัยต่อกองทุนของไทยที่เข้าไปลงทุน

 นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส จำกัด กล่าวว่า การผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ ไม่น่าจะมีความรุนแรงบานปลายจนถึงขั้นวิกฤติเหมือนซับไพร์มของสหรัฐฯ เพราะต้นตอปัญหาเกี่ยวกับอสังหาฯ แตกต่างจากซับไพร์มสหรัฐฯที่เป็นปัญหาทางการเงิน

   อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวบ่งชี้ถึงความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งไม่เกินความสามารถของจีนที่จะจัดการกับปัญหาได้ นอกจากนี้ ผลกระทบกับไทยยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกัน อีกทั้งการลงทุนที่เชื่อมโยงกับไทย ส่วนใหญ่จะเป็นทางฝั่งญี่ปุ่นมากกว่า