ผ่าอาณาจักร "เอเวอร์แกรนด์ รู้จัก "สวี เจียหยิ่น" มหาเศรษฐีอันดับ 12 ของจีน

17 ก.ย. 2564 | 05:51 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2564 | 22:00 น.
4.7 k

ผู้กุมอาณาจักร "ไชน่า เอเวอร์แกรนด์"บนกองหนี้ 3.5 แสนล้านดอลลาร์ เขาคนนี้คือ "สวี เจียหยิ่น" มหาเศรษฐีอสังหาฯ ที่ร่ำรวยติดอันดับ Top ของจีน

ย้อนไปในปี 2018 รายงานการจัดอันดับความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แดนมังกรของ หูรุ่น รีพอร์ต (Hurun Property Rich List 2018) ยกให้ นายสวี เจียหยิ่น (Xu Jiayin) หรือชื่อจีนกวางตุ้ง Hui K a Yan ประธานกลุ่มเอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป เป็นมหาเศรษฐีที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในแวดวงวงอสังหาริมทรัพย์ด้วยสินทรัพย์รวมในปีนั้น 215,000 ล้านหยวน หรือ 31,000 ล้านดอลลาร์

 

รูเพิร์ท ฮูจเวิร์ฟ ประธานและหัวหน้านักวิจัย ผู้จัดทำหูรุ่น รีพอร์ต ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลการจัดอันดับในปีนั้นว่า ในบรรดามหาเศรษฐีที่ระดับความมั่งคั่งถูกจัดเข้าทำเนียบ “รวยที่สุด” ในจีนแผ่นดินใหญ่ หรือ Hurun China Rich List ประจำปี 2018 นั้น 14.9% มาจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะว่าไปแล้วธุรกิจอสังหาฯ นับเป็นแหล่งก่อกำเนิดมหาเศรษฐีรุ่นใหม่ของจีนมาตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา

สวี เจียหยิ่น

แม้กระทั่งล่าสุดในปีนี้ (2021) ในยามที่อาณาจักรธุรกิจ “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์” หรือในชื่อภาษาจีนว่า “กลุ่มบริษัทเหิงต้า” กลายสภาพเป็นบริษัทเอกชนที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลกที่ 1.97 ล้านล้านหยวน หรือราว 356,000 ล้านดอลลาร์ (กว่า 10 ล้านล้านบาท) และสุ่มเสี่ยงกับการผิดนัดชำระหนี้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ชื่อของสวี เจียหยิ่น ในวัย 62 ปี ก็ยังคงอยู่ใน ทำเนียบมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ จัดโดยนิตยสาร ฟอร์บส์ โดยสวี เข้าอันดับมาเป็นที่ 12 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์รวม 27,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“ไชน่า เอเวอร์แกรนด์” เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับสองของประเทศจีน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKSE) ในปี 2009  มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 85.67% เป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ที่เหลือนอกนั้นส่วนใหญ่ถือโดยนักลงทุนในรูปสถาบัน ทั้งนี้ บุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ก็คือนายสวี เจียหยิ่น นั่นเอง โดยเขาเพียงคนเดียวถือครองหุ้นของบริษัทอยู่ถึง 70.7% หรือคิดเป็นจำนวน 9,370,871,497 หุ้น (ดังภาพประกอบ)

ผู้ถือหุ้นไชน่า เอเวอร์แกรนด์

สวี เจียหยิ่น เป็นมหาเศรษฐีที่สร้างตัวมาจากศูนย์ เขามาจากครอบครัวยากจนในชนบท ไต่เต้าสร้างฐานะมาพร้อม ๆกับนโยบายปฏิรูปของจีน  ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ฯ (หรือเรียกโดยย่อ “เอเวอร์แกรนด์”) ที่ก่อตั้งในปี 1996 สั่งสมความมั่งคั่งในช่วงหลายทศวรรษของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างรวดเร็วโดยอาศัยประโยชน์จากนโยบายการปฏิรูปของจีนที่เปิดโอกาสให้กับธุรกิจการพัฒนาที่ดิน บริษัทเติบโตจนกลายเป็นหนึ่งใน 150 บริษัทชั้นนำของโลกในแง่รายได้ (จากข้อมูลของ Fortune 500) มีพนักงานมากกว่า 123,000 คน และมีรายได้รวม 73,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2020  มีการดำเนินธุรกิจโครงการมากกว่า 1,300 โครงการในกว่า 280 เมืองใหญ่ทั้งในจีนและต่างประเทศ

 

โครงการแรกของบริษัทเป็นอพาร์ทเมนต์ 323 ยูนิต เมื่อสร้างเสร็จสามารถขายหมดทุกยูนิตภายในครึ่งวันที่เปิดขาย ทำเงินก้อนแรก 80 ล้านหยวน ความสำเร็จดังกล่าวกลายเป็นเรื่องเล่าคลาสสิกพอๆ กับเรื่องการนำหุ้นเข้าตลาดในปี 2009 ที่ระดมทุนจากการทำ IPO ได้ถึง 9,000 ล้านดอลลาร์ เอเวอร์แกรนด์กลายเป็นบริษัทอสังหาฯเอกชนรายใหญ่ที่สุดของจีนในปีนั้น และสวี เจียหยิ่น ขึ้นแท่นเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยสินทรัพย์สุทธิ 42,200 ล้านหยวน

 

 แต่ความสำเร็จได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการรุกขยายธุรกิจ-สร้างการเติบโตอย่างบ้าคลั่ง อาศัยชื่อเสียงและเครดิตที่ดีกู้หนี้ยืมสินมาต่อยอดขยายธุรกิจ บุกเปิดโครงการใหม่ไปเรื่อย จนสุดท้ายกลายเป็นการขยายเกินตัว ประกอบกับการเข้ามาควบคุมดูแลมากขึ้นของแบงก์ชาติจีน ทำให้เอเวอร์แกรนด์มีโครงการที่คั่งค้างขายไม่ออกรวมกว่า 1.5 ล้านยูนิต มีภาระหนี้กว่า 356,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงหนี้ที่กำลังจะครบกำหนดชำระภายในสิ้นปีนี้ จำนวน 800 ล้านดอลลาร์ และภายในปีหน้า (2565) อีก 7,400 ล้านดอลลาร์

 

ภาวะวิกฤติหนี้สินของเอเวอร์แกรนด์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลาย ทำให้ธนาคารกลางและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาคุยกับผู้บริหาร “เอเวอร์แกรนด์” ได้รับ “โจทย์” จากภาครัฐให้ไปจัดการให้เรียบร้อย รวมถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อลดทอนภาระหนี้สินลงมาและเพิ่มสภาพคล่องเงินสดที่เหือดแห้งเต็มที สวีเจรจาขายสินทรัพย์บางส่วนออกไป รวมทั้งธุรกิจในเครือที่ไม่ทำเงิน หรือไม่ใช่ธุรกิจหลัก เช่นธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ทุ่มเงินไปมากแต่ยังไม่มีรถออกมาสักรุ่นเดียว

 

วันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา สวี เจียหยิ่น ลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ เรียลเอสเตท ซึ่งเป็นหัวจักรขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาฯ ของกลุ่ม บางคนมองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับโครงสร้างองค์กร แต่หลายคนมองว่าสวีเป็นกัปตันที่สละเรือกำลังจะจม นักวิเคราะห์เชื่อว่า รัฐบาลจีนคงไม่ปล่อยให้เอเวอร์แกรนด์ล้มละลาย เหมือนกับที่สวีเคยพูดอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งที่เป็นเอเวอร์แกรนด์ในวันนี้ เป็นได้เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลกลาง และสังคมคอยอุ้มชู