กาตาร์เตรียมผุด “โรงแรมลอยน้ำ” รับบอลโลก 2022

12 มิ.ย. 2563 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2563 | 11:16 น.
706

คอลัมน์ Circular Economy ชีวิตดีเริ่มที่เรา

โดย กรีนเดย์

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563

- - - - - - -

ประเทศกาตาร์กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันบอลโลก (World Cup) ในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือ เวิลด์คัพ 2022 นอกจากการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ “ลูเซล อินเตอร์เนชั่นแนล สเตเดี้ยม” (Lusail International Stadium) แล้ว รัฐบาลกาตาร์ยังมีแผนจัดสร้างที่พักเพื่อรองรับทั้งนักกีฬา คณะผู้แทนจากนานาประเทศ และนักท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะหลั่งไหลเข้ามาชมการแข่งขัน 

 

กาตาร์เตรียมผุด “โรงแรมลอยน้ำ” รับบอลโลก 2022

แต่เพื่อให้โรงแรมที่พักที่เพิ่มขึ้นมานั้นเป็นสิ่งที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนและใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาวอย่างคุ้มค่า ไม่ใช่สร้างขึ้นมาเพื่อวาระโอกาสบอลโลกครั้งนี้เพียงอย่างเดียวแล้วกลายเป็นอาคารร้างเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศที่เป็นเจ้าภาพบอลโลกหรือเทศกาลกีฬาอื่นๆ เช่น โอลิมปิก รัฐบาลกาตาร์จึงมีดำริที่จะให้มีการก่อสร้าง โรงแรมลอยน้ำ หรือ floating hotel ขึ้นเพื่อสามารถเพิ่มปริมาณที่พักสำหรับนักกีฬาและนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่จำเป็น จากนั้นเมื่อหมดช่วงการแข่งขันแล้วก็สามารถลากจูงเคลื่อนย้ายโรงแรมลอยน้ำไปตามแนวชายฝั่งเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ ได้อีก

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกาตาร์มอบหมายให้บริษัท Admares จากประเทศฟินแลนด์เป็นผู้ออกแบบโรงแรมลอยน้ำ 4 ชั้น จำนวน 16 หลัง แต่ละหลังมีที่พัก 101 ห้องพร้อมร้านอาหารและเลาจน์ ตั้งอยู่บนทุ่นที่สามารถลากมาติดตั้งใกล้สนามกีฬาและใช้เวลาในการเดินทางถึงกันเพียง 15 นาที สถานที่สำหรับการติดตั้งคือริมชายฝั่งของเกาะ Qetaifan ซึ่งกาตาร์กะส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับบอลโลกปี 2022 ความโดดเด่นของโรงแรมลอยน้ำเหล่านี้คือไม่จำเป็นต้องมีท่าเรือเพื่อรองรับ อีกทั้งยังสามารถติดตั้งแม้น้ำมีระดับต่ำ (ระดับความลึกของน้ำขั้นต่ำคืออย่างน้อย 13 ฟุต)   

 

กาตาร์เตรียมผุด “โรงแรมลอยน้ำ” รับบอลโลก 2022

กาตาร์เตรียมผุด “โรงแรมลอยน้ำ” รับบอลโลก 2022

โครงการโรงแรมลอยน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้อีกในหลายพื้นที่เมื่อหมดช่วงการแข่งขันบอลโลกแล้ว มีแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์หมุนเวียนและยั่งยืน สอดคล้องกับการก่อสร้างสนามกีฬาลูเซล ที่ออกแบบให้ใช้พลังงานหมุนเวียน (พลังแสงอาทิตย์) และนำวัสดุบางอย่างในสนามกีฬาไปปรับใช้ประโยชน์ตามความต้องการได้อีก เช่น เก้าอี้บนอัฒจันทร์ สามารถถอดออกเพื่อนำไปใช้ที่อื่น แล้วสนามกีฬาเองก็จะมีพื้นที่ใช้สอยกว้างขึ้นเพื่อการทำกิจกรรมอื่นๆ เป็นต้น           

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563