ถอดคำให้การ ‘มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก’ อนาคต ‘ลิบรา’ ไหวไหม

24 ต.ค. 2562 | 15:00 น.
1.4 k

จากการเข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการด้านบริการทางการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาวานนี้ (23 ต.ค.) นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท เฟซบุ๊ก อิงค์ โซเชียลมีเดียชื่อดังของโลก ได้ใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงในการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับ สกุลเงินลิบรา (Libra) ของเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัล ที่เขามีแผนนำมาให้บริการเป็นทางเลือกใหม่ในการทำธุรกรรมการเงินแก่ผู้คนทั่วโลกในปีหน้า ผ่านทางแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า ‘คาลิบรา’ เปรียบได้กับกระเป๋าเงินออนไลน์ ที่ผู้ใช้งานสามารถนำเงินลิบราไปใช้ชำระค่าธรรมเนียมของบริการต่างๆหรือสินค้าที่เป็นพันธมิตรกับโครงการได้

 

ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญซีอีโอของเฟซบุ๊ก เข้าให้การ เนื่องจากกังวลว่า ระบบบริการทางการเงินดิจิทัลอย่าง ‘ลิบรา’อาจถูกใช้ในการฟอกเงิน และเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการก่อการร้าย ต่อไปนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาการให้ปากคำของนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ที่พยายามตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับอนาคตและบทบาทของสกุลเงินลิบรา แต่หลายคนฟังแล้วก็เชื่อว่า เกิดได้ยาก! แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังยอมรับว่า ความเสี่ยงนั้นมีอยู่

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก
 

+ เสี่ยงแต่ก็ว่าคุ้มนะ

 

“โครงการมีความเสี่ยง แต่ก็คุ้มเพราะจะเข้ามาลดต้นทุนการชำระเงินทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้ระบบการเงินสามารถเข้าถึงโดยผู้คนทั่วไปได้มากขึ้น”

 

“การถอนตัวของผู้ร่วมทุนรายใหญ่อย่าง วีซ่า มาสเตอร์การ์ด อีเบย์ และเพย์พาล อาจเป็นเพราะบริษัทเหล่านั้นมองว่าลิบราเป็นโครงการสร้างเครือข่ายสกุลเงินดิจิทัลที่มีความเสี่ยง ซึ่งโดยส่วนตัว ผมเองยังไม่เชื่อมั่นเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าโครงการเงินลิบราจะสามารถไปรอดหรือไม่ในระยะยาว”

 

“เฟซบุ๊กจะเดินหน้าพัฒนาเงินลิบราต่อไป แต่ถ้ามีคำสั่งจากหน่วยงานด้านการตรวจสอบการเงินของรัฐบาลกลางให้ระงับโครงการลิบรา เนื่องจากมองว่าเฟซบุ๊กยังไม่สามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นเรื่องการปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานได้อย่างเพียงพอแล้ว เฟซบุ๊กก็พร้อมปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข”

 

ถอดคำให้การ ‘มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก’ อนาคต ‘ลิบรา’ ไหวไหม

+ ถ้าเฟซบุ๊กไม่เข้าร่วม  โครงการก็ยังไปต่อได้

 

“เฟซบุ๊กยินดีที่จะถอนตัวออกจากสมาคมลิบรา ถ้าหากโครงการนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่ควบคุมดูแลกฎระเบียบการให้บริการทางการเงินของสหรัฐอเมริกา”

 

“สมาคมลิบรา (Libra Association) เป็นองค์กรอิสระที่จะมีบทบาทนำในโครงการนี้ และแม้หากไม่มีเฟซบุ๊กร่วมโครงการ สมาคมลิบราก็ยังจะคงเดินหน้าโครงการต่อไปได้” 

 

“โครงการเงินลิบราไม่ใช่แผนการจัดตั้งธนาคารออนไลน์ใหญ่ที่สุดในโลก วัตถุประสงค์หลักคือเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่บริษัทและประชาชนทั่วโลกในการทำธุรกรรมออนไลน์ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอินเทอร์เน็ตใช้งาน แต่กลับอยู่ห่างไกลจากธนาคาร”

 

ถอดคำให้การ ‘มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก’ อนาคต ‘ลิบรา’ ไหวไหม

+ ลิบราจะทำให้สหรัฐเป็นผู้นำทางการเงิน

 

“ขณะที่เรากำลังถกเถียงกันในเรื่องนี้ ประเทศอื่นๆก็ไม่ได้หยุดรอเรา  จีนเตรียมออกสกุลเงินคริปโตในลักษณะเดียวกันนี้ในเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือนข้างหน้าแล้ว"

 

"ลิบราจะได้รับการหนุนหลังโดยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และถ้าสหรัฐฯไม่มีนวัตกรรมทางด้านนี้ สถานะการเป็นผู้นำทางการเงินของเราก็จะถูกสั่นคลอน"

 

“การออกเงินดิจิทัลสกุลลิบรามาใช้ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างเงินสกุลใหม่ แต่ต้องการสร้างระบบการชำระเงินทางเลือกใหม่ ทีมงานยังไม่ได้สรุปลงตัวในรายละเอียด แต่ก็เป็นไปได้ว่าเงินลิบราจะผูกติดกับสกุลเงินหลักเพียงสกุลเดียว แทนที่จะผูกกับตะกร้าเงินที่มีหลายสกุลถัวเฉลี่ยกัน”  

 

+ อุปสรรคเยอะ ขอชะลอยาวๆไป

ความเป็นมาก่อนหน้าการนัดให้การของนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ในครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่ นางแม็กซีน วอเตอร์ส ประธานคณะกรรมาธิการด้านบริการทางการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้ออกมาเรียกร้องให้ทางการระงับโครงการออกสกุลเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊กเอาไว้ก่อน โดยเธอต้องการให้บริษัทแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆของสกุลเงินดังกล่าวให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะเดินหน้าโครงการนี้ ขณะเดียวกัน เธอยังได้ร่างตัวบทกฎหมายเพื่อสกัดเส้นทางไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีทำธุรกิจเป็นผู้ให้บริการทางการเงินด้วย

 

กล่าวได้ว่า โครงการลิบรากำลังเผชิญอุปสรรคจากการตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยนักการเมือง หน่วยงานควบคุมกฎระเบียบและเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางทั่วโลก ที่หวั่นเกรงกันว่าการที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วโลกเกือบ 2,400 ล้านคนนำสกุลเงินดังกล่าวมาใช้อย่างแพร่หลายอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินโลก สนับสนุนการฟอกเงินผิดกฎหมาย และถูกใช้เป็นเครื่องมือของขบวนการก่อการร้าย ล่าสุด บริษัทด้านการชำระเงินหลายแห่งที่เคยประกาศตัวเป็นพันธมิตรร่วมโครงการดังกล่าวกับเฟซบุ๊กในนาม ‘สมาคมลิบรา’ นำโดยบริษัท เพย์พาล โฮลดิ้งส์ อิงค์ ตามด้วยมาสเตอร์การ์ด, วีซ่า อิงค์, อีเบย์ อิงค์ และ สไตรป์ อิงค์ ของสหรัฐฯ รวมทั้งบริษัท เมอร์คาโด ปาโกของเม็กซิโก ได้พากันประกาศถอนตัวออกจากสมาคมลิบรา ส่งผลให้ทางสมาคมฯไม่เหลือสมาชิกที่เป็นบริษัทด้านการชำระเงินอีกเลย สมาชิกที่เหลืออยู่ ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยบริษัทที่ทำธุรกิจร่วมทุน สื่อสารโทรคมนาคม ธุรกิจบล็อกเชนและเทคโนโลยี ตลอดจนองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร (เอ็นจีโอ)

 

เท่ากับว่าสมาคมลิบราจะไม่สามารถพึ่งพาบริษัทระดับโลกในการช่วยผู้ใช้บริการแปลงสกุลเงินของตนเป็นสกุลเงินลิบรา หรือช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมใดๆอีกต่อไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะผิดไปจากวัตถุประสงค์การก่อตั้งที่หวังจะให้เกิดระบบการชำระเงินและระบบธุรกรรมการเงินในรูปแบบดิจิทัลที่สะดวกสบายและเข้าถึงโดยง่ายสำหรับผู้คนทั่วโลก