ย้อนรอยมติรัฐสภาปิดสวิตช์ "นายกฯพิธา" พายเรือในอ่าง ถกประเด็นเดียว 8 ชม.

19 ก.ค. 2566 | 17:48 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2566 | 18:08 น.

ย้อนรอยประชุมร่วมรัฐสภา ใช้เวลานานกว่า 8 ชั่วโมงครึ่ง ในการพายเรือในอ่าง ถกเถียงประเด็นเดียวเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯซ้ำได้หรือไม่ ก่อนสุดท้ายลงมติปิดสวิตช์เส้นทางนายกฯพิธา

ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ส.ส. + ส.ว. ใช้เวลาตั้งแต่เวลา 09.30 น. ถึง 17.00 น. หรือนานกว่า 8 ชั่วโมงครึ่ง ในการถกเถียงเพียงประเด็นเดียวว่า "เสนอชื่อพิธา" เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำอีกรอบได้หรือไม่

ฐานเศรษฐกิจ จะพาย้อนไปดูบรรยากาศการประชุมร่วมรัฐสภาตลอดทั้งวันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างก่อนมีมติเสียงข้างมากตีตกชื่อของนายพิธา หลังจากนายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ 8 พรรครวมจัดตั้งรัฐบาล ได้เสนอชื่อนายพิธา ให้ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกเป็นครั้งที่ 2 เพียงรายชื่อเดียว โดยไม่มีพรรคการเมืองอื่นเสนอบุคคลอื่นชื่อท้าชิง

ย้อนรอยมติรัฐสภาปิดสวิตช์ \"นายกฯพิธา\" พายเรือในอ่าง ถกประเด็นเดียว 8 ชม.

โดยการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ได้ใช้เวลาตลอดทั้งวันในการอภิปรายประเด็นปัญหาดังกล่าว กว่า 8 ชั่วโมงครึ่ง นั้น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายไปในทิศทางเดียวกันว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาพิจารณาเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นญัตติ 

ซึ่งหากญัตติใดรัฐสภาตีตกไปแล้ว จะไม่สามารถพิจารณาได้ใหม่ภายในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ประธานรัฐสภา จะเห็นว่า มีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไป จึงจะสามารถอนุญาตให้นำมาพิจารณาใหม่ได แต่การพิจารณา ให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ถือเป็นญัตติที่รัฐสภา เคยตีตกไปแล้ว เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา 

ย้อนรอยมติรัฐสภาปิดสวิตช์ \"นายกฯพิธา\" พายเรือในอ่าง ถกประเด็นเดียว 8 ชม.
 

ย้อนรอยมติรัฐสภาปิดสวิตช์ \"นายกฯพิธา\" พายเรือในอ่าง ถกประเด็นเดียว 8 ชม.

ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังไม่เห็นว่า จะมีสถานการณ์เปลี่ยนไป ที่จะทำให้รัฐสภานำชื่อนายพิธา กลับมาพิจารณาซ้ำ ทั้งยังเป็นการเสนอชื่อบุคคลเดิม และไม่ได้มีสัญญาณว่า พรรคก้าวไกล จะยอมถอยนโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังกล่าว ดังนั้น สถานการณ์จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป

ขณะที่ ความเห็นของ ส.ส. 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลตามเอ็มโอยู อภิปรายสอดคล้องกันโดยไม่เห็นด้วย กับการตีความขั้นตอนการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีว่าเป็นญัตติ เพราะเป็นการตีความที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะกระทบต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ เพราะการเสนอชื่อบุคคล และญัตติ มีความหมายต่างกัน 

รวมถึงหากจะไม่ให้มีการเสนอชื่อบุคคลซ้ำ กฎหมายก็จะบัญญัติไว้ห้ามอย่างชัดเจน เช่น การสรรหากรรมการองค์กรอิสระ และการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติถึงขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี 

ย้อนรอยมติรัฐสภาปิดสวิตช์ \"นายกฯพิธา\" พายเรือในอ่าง ถกประเด็นเดียว 8 ชม.

และสอดคล้องกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ในหมวด 9 ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งแยกหมวดไว้เป็นกาลเฉพาะอย่างชัดเจน และโดยหลักทั่วไปของกฎหมาย เมื่อกำหนดหมวดไว้เฉพาะแล้ว จะนำบททั่วไปอื่น ๆ มาผสมบังคับใช้ไม่ได้ 

ดังนั้น การหยิบยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 มาตีความการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นญัตติ ที่ถูกตีตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอซ้ำได้ จึงเป็นการตีความกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง

พร้อมเตือนไปยัง ส.ส. และ ส.ว.ว่า การตีความที่ผิดเพี้ยน จะเป็นบรรทัดฐานที่จะกลับมาสร้างความยากลำบากให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ หรือบุคคลอื่น ๆ ในกรณีอื่น ๆ ที่จะสร้างความยุ่งยาก และความเสียหายให้สถาบันอื่น ๆ ของบ้านเมือง และยังมีโอกาสทำให้ประเทศเดินหน้าสู่ทางตันทางการเมืองได้ 

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลการลงมติ 394 ที่คัดค้านไม่ให้รัฐสภาพิจารณาชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกในสมัยประชุมนี้ ประกอบไปด้วยสมาชิกวุฒิสภา และพรรคร่วมรัฐบาลชุดรักษาการปัจจุบัน

ขณะเดียวกันผลการลงมติที่สนับสนุนให้พิจารณานายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในสมัยประชุมนี้ ประกอบไปด้วย ส.ส. จาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล

ที่ผลสุดท้ายเป็นการปิดเส้นทางนายกฯพิธา เป็นที่แน่นอนแล้ว ต้องรอลุ้นว่าการประชุมครั้งต่อไปจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทยคนใดขึ้นมาเป็นนายกฯ