สรุปนโยบาย “พรรคประชาธิปัตย์” ดัน "11 โครงการ" งบ 6.85 แสนล้านบาท

11 พ.ค. 2566 | 14:38 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2566 | 15:14 น.

เลือกตั้งปี 2566 นี้ เข้าสู่"โค้งสุดท้าย" ช่วงที่ผ่านมาบรรดาพรรคการเมือง ต่างลงพื้นที่หาเสียงอย่างแข็งขัน และ"ประกาศนโยบายที่จะทำ หากได้เป็นรัฐบาล" 1 ในพรรคที่น่าจับตา คือ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่เน้นยุทธศาสตร์ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ”

การประกาศนโยบายหาเสียงปีนี้ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่นำโดยหัวเรือใหญ่ อย่าง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ส่งผู้สมัคร สส.แบบแบ่งเขต ครบทั้ง 400 เขต  และแบบบัญชีรายชื่อ 98 คน ยุทธศาสตร์เลือกตั้งปีนี้ คือ  “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ”  

  • “สร้างเงิน”คือ การสร้างเงินให้คนไทย สร้างเงินให้ ประเทศ
  • “สร้างคน” ด้วยการศึกษา สาธารณสุข ให้คนมี ศักยภาพในการรักษาเงิน และสร้างเงินต่อไปได้ในอนาคต
  • “สร้างชาติ” ด้วยการปกครอง ระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาธิปไตยสุจริต และ ประชาธิปไตยท้องอิ่ม

พรรคประชาธิปัตย์ มีการเสนอนโยบายแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ เกษตรทันสมัย, สวัสดิการตลอดชีพ, เศรษฐกิจการค้า, การศึกษาทันสมัย รวมใช้งบประมาณทั้งสิ้น 685,400 ล้านบาท 

 

เศรษฐกิจ

1.SME ต้องมีแต้มต่อ 3 แสนล้าน ทั้งด้านการผลิต การตลาด และตั้งกองทุน 3 แสนล้านให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน แหล่งทุน สำหรับนำมาขยายกิจการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้กับประเทศ จะทำให้เกิดการจ้างงาน 12.6 ล้านคน (วงเงิน 3 แสนล้านบาท) 

2.ธนาคารหมู่บ้าน/ชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ มีรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนระดับรากหญ้า แก้ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน จากปัจจุบันมีหมู่บ้านรวมกว่า 80,000 แห่ง  (วงเงิน 1.6 แสนล้านบาท) 

 

เกษตรกรรม

3.ประกันรายได้เกษตรกร โดยจ่ายเงินส่วนต่างเกษตรกรผู้ปลูกพืช 5 ชนิด คือ ข้าว มัน ยาง ปาล์ม และข้าวโพด เพื่อให้หลักประกันรายได้เมื่อราคาผลผลิตตกต่ำ  (วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท) 

4.ชาวนารับ 30,000 บาทต่อ 1 ครัวเรือน เพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และยกระดับชีวิตชาวนาให้ดีขึ้น  (วงเงิน 9.7 หมื่นล้านบาท) 

5.เงิน 3 ล้านบาทต่อยอดเกษตรแปลงใหญ่ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อกำหนดผลผลิตภาคเกษตรกรรม เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในระบบตลาด  สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (วงเงิน 30 ล้านบาท) 

 6.ให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรประมง กลุ่มละ 100,000 บาท/ปี เพื่อพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพของชาวประมงท้องถิ่นที่มีกว่า 2,800 กว่ากลุ่ม เพิ่มผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ และมีรายได้ใหม่ๆ (วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท)  และตั้งเป้าปลดล็อคประมงพาณิชย์ ภายใต้ IUU

7.เพิ่มค่าตอบแทนอาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน (อกม.) 1,000 บาท/เดือน เพื่อเป็นผู้ประสานงานหลักระหว่างภาครัฐและเกษตรกร เพิ่มศักยภาพภาคการเกษตรไทย (วงเงิน 900 ล้านบาท)

 

สวัสดิการ

8.ชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000 บาท ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตรอบด้าน (วงเงิน 2,400 ล้านบาท) 

9.ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน เพื่อขยายระยะเวลาการดื่มนมของเด็กนักเรียนจากระดับอนุบาล จนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 จากเดิม 260 วัน เพื่ออส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก (วงเงิน 2.07 หมื่นล้านบาท) 

 

การศึกษา

10.เรียนฟรี ถึงปริญญาตรี สาขาที่ตลาดต้องการ  เพื่อผลิตบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อเดินหน้าระบบเศรษฐกิจ ซึ่งไทยยังขาดแคลนใน กลุ่มเทคโนโลยี และนวัตกรรม (วงเงิน 500 ล้านบาท)

11.อินเทอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุด ทุกหมู่บ้าน ทุกห้องเรียน เพื่อสร้างสังคม และการศึกษาที่ทันสมัย โดยติดตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สาย 1 ล้านจุดทั่วประเทศ และเพื่อส่งเสริมการค้าออนไลน์สำหรับประชาชนทั่วไปด้วย  (วงเงิน 3,600 ล้านบาท) 

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการ เช่น

  • ปลดล็อค กบข. และกองทุนเลี้ยงชีพ ให้ประชาชนซื้อบ้านได้
  • ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี
  • ให้กรรมสิทธิ์ทำกินให้กับผู้ทำกินในที่ดินของรัฐ
  • โครงการตรวจสุขภาพฟรี รักษาฟรี โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว

ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอ "ที่มารายได้" เพื่อใช้ดำเนินนโยบาย มาจากการ "ปรับลดงบประมาณบางรายการ" เช่น งบกลาง รายการใช้จ่ายสำรองฉุกเฉิน 100,000 ล้านบาท , ภาษีที่จัดเก็บจากผู้มีรายได้สูง 32,200 ล้านบาท และการเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษีอีก 1 แสนล้านบาท