วิษณุ เผยเลือกตั้งไม่พ้น 14 พ.ค.พร้อมเปิดงบเลือกตั้งส.ส.

20 มี.ค. 2566 | 13:55 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2566 | 14:45 น.

วิษณุ เผยผลหารือเลขาฯ กกต.ยุบสภาวันนี้-พรุ่งนี้ ต้องหย่อนบัตร 14 พ.ค. นี้ ถอยหลังไปไม่ได้แล้ว พร้อมเผยงบเลือกตั้ง ส.ส.เขตคนละ 1.9 ล้าน ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ค่าใช้จ่ายรวมกัน 100 รายชื่อ ต้องไม่เกิน 44 ล้าน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงผลการหารือกับนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า กกต.จะออกประกาศภายใน 5 วัน นับแต่วันที่มีประกาศยุบสภา ซึ่งในประกาศนั้นจะบอกว่า

1.วันเลือกตั้งเป็นวันไหน

2.วันรับสมัครวันไหน

3.สถานที่รับสมัครที่ใด ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.เขตหรือบัญชีรายชื่อก็ตาม โดยไม่ต้องมีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) อื่นใดอีก ที่กฎหมายบอกว่าให้มีการออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง

ให้ กกต.ถือว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภาคือ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งในตัวเอง เพราะใน พ.ร.ฎ.จะบอกว่า 1.ให้มีการยุบสภา 2.ให้มีการเลือกตั้ง นั่นแปลว่านี่คือ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง

ซึ่งตนเข้าใจว่าไม่เกินวันศุกร์ที่ 24 มีนาคมนี้ ก็จะออกประกาศนั้นได้ โดย กกต.เป็นคนกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร สถานที่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

นายวิษณุกล่าวต่อว่า ส่วนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งนั้น ได้มีการประชุมกับพรรคการเมืองทั้งหมดแล้ว ตกลงกันว่า สำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ค่าใช้จ่ายรวมกันทั้งหมด 100 รายชื่อ จะต้องไม่เกิน 44 ล้านบาท

ส่วน ส.ส.เขต แต่ละคนต้องไม่เกินคนละ 1.9 ล้านบาท ขณะที่วิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ข้าราชการจากนี้ไป ก็จะเป็นไปตามมาตรา 78 ของกฎหมายเลือกตั้ง แต่เลขาฯ กกต.บอกว่า ต้องเข้าใจก่อนว่ามีการเขียนเกี่ยวกับการวางตัวของข้าราชการไว้ 2 ที่ คือ กฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือน และ กฎหมายเลือกตั้ง

ในกฎหมายเลือกตั้งนี้ บางอย่างแม้ไม่ผิด แต่อาจจะผิดในกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือนก็ได้ เช่น ข้าราชการธรรมดาไปช่วยหาเสียง ถือว่าไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่ชัดเจนว่าผิดกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งถือเป็นความผิดทางวินัย
 

วิษณุ เผย ยุบสภาวันนี้-พรุ่งนี้  ไม่พ้นเลือกตั้ง 14 พ.ค.

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าหลังเวลาราชการ ข้าราชการจะไปช่วยหาเสียงไม่ได้เลยใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เวลาไหนก็ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะจะผิดวินัย ดังนั้นอย่าไปร้องเรียน กกต. เพราะ กกต.จะไม่รับเรื่องเหล่านี้ แต่ในกรณีของนักการเมือง เช่น รัฐมนตรีลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะไม่ใช้ระเบียบข้าราชการพลเรือน เพราะเขาไม่ใช่ข้าราชการ แต่จะต้องไปใช้กฎหมายเลือกตั้ง

ในกฎหมายเลือกตั้งนั้นระบุว่าห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อกระทำการใดอันเป็นการให้คุณให้โทษต่อผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ซึ่งสำคัญตรงคำว่าตำแหน่งหน้าที่ หลายร้อยเรื่องที่ไปร้อง กกต.กล่าวหาคนนั้นคนนี้ ซึ่งไม่เข้าข่ายทั้งนั้น เพราะเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยชอบ

ดังนั้นเขาก็สามารถทำได้ แม้ว่าผลที่เกิดนั้นจะดูเป็นการหาเสียง ยกเว้นว่าเป็นการหาเสียงโจ่งแจ้ง เช่น การไปแจกโฉนดชุมชน ซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการ แต่ระหว่างนั้นบนเวทีก็แนะนำตัวผู้สมัครไปพรางด้วย ทำอย่างนี้ไม่ได้ แต่ถ้าเสร็จกิจกรรมการมอบโฉนดชุมชนแล้ว จะไปขึ้นลงเวที หรือเดินตลาดหาเสียง อย่างนั้นไม่เป็นไร หรือเวลาไปจะไปเครื่องบินหลวง หรือเฮลิคอปเตอร์หลวงก็ไม่เป็นไร เพราะถือเป็นการไปในราชการ ต้องแยกให้ออก ไม่ได้ก่อให้เกิดภาระเปลืองน้ำมันแพงแต่อย่างใด


ถามว่า ในส่วนของข้าราชการท้องถิ่นที่ไปสนับสนุนการทำงานของผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง มีข้อห้ามหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อย่างที่บอก ข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลางตามกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.เขต คนละ 1.9 ล้านบาทนั้น จะมีผลตั้งแต่การประกาศยุบสภาใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เริ่มนับตั้งแต่ยุบสภา แม้ป้ายเดิมจะติดอยู่ ก็เริ่มนับได้เลย ถามถึงคุณสมบัติของผู้สมัคร หากจะไปสมัครหลังวันที่ 5 เมษายน 2566 ต้องสังกัดพรรค 30 วันก่อนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เริ่มนับถอยหลังมา 30 วัน จากวันเลือกตั้งที่กำหนด

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนกำหนดการวันเลือกตั้งนั้น หากยุบวันนี้ เขาคงเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม หากยุบสภาวันที่ 21 มีนาคม จะยังคงเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม เพราะจะถอยหลังเกินวันที่ 14 พฤษภาคม ไม่ได้แล้ว เพราะวันที่ 14 พฤษภาคม ถือเป็นวันที่ 55 และระหว่างวันที่ 7 พฤษภาคม กับวันที่ 14 พฤษภาคม ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีวันหยุดมากกับวันหยุดน้อยนั้น ไม่มีนัยยะทางการเมือง ไม่เกิดความแตกต่าง


เมื่อถามว่า เป็นห่วงการหาเสียงในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือไม่ ที่ตรงกับช่วงประเพณี อาจจะมีการแจกสิ่งของ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ห่วง กกต.มีคู่มืออยู่แล้ว ออกมาตั้งแต่ปี 2565 ที่ระบุว่าระหว่างยุบสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องไม่มีการประชุม ครม.สัญจร ไม่จัดกิจกรรมที่มีการชุมนุมของกลุ่มคน ยกเว้นกิจกรรมที่กำหนดปฏิทินประจำปี เช่น สงกรานต์ แต่การจะแจกอะไร กกต.มีคำเตือนไว้อยู่แล้วว่าผู้สมัครอย่าไปแจก ไปงานแต่งงานได้ แต่อย่าไปขึ้นเวทีกล่าวอะไร

ถามว่า นายกฯจัดงานรดน้ำดำหัวได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ได้ จัดได้ตามปกติ ไม่ใช่แค่นายกฯ ทุกคนสามารถจัดได้

เมื่อถามว่า กรณีรัฐบาลยุบสภาไปแล้ว ตามมาตรา 169 การอนุมัติงบกลางต้องขอ กกต.หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า งบกลางต้องขอ กกต. แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่เข้า ครม.ต้องขอ กกต. ส่วนการแต่งตั้งนายพลตำรวจ ทหาร ซึ่งไม่เข้า ครม.ไม่ต้องขอ กกต. เช่นเดียวกับการแต่งตั้งรัฐวิสาหกิจ

แม้จะเข้า ครม. แต่ไม่ต้องขอ กกต. แต่ถ้าตั้งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจต้องขอ กกต. ซึ่งได้ซักซ้อมสิ่งเหล่านี้กันด้วย ทั้งนี้ ในการประชุม ครม.วันที่ 21 มีนาคม ตนจะอธิบายเรื่องนี้ให้รัฐมนตรีฟังด้วยวาจา แต่ไม่ถึงกับต้องออกคู่มือ สำหรับพวกปลัดกระทรวง เขาผ่านการยุบสภามาหลายครั้ง ก็ทำเหมือนทุกครั้ง แต่รัฐมนตรีอาจไม่คุ้น จะได้อธิบายให้ทราบ

เมื่อถามว่า รัฐมนตรีหลายคนลาออกจาก ครม. จะกระทบการทำงานหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่กระทบ คนที่ลาออกเพิ่ม จะมีการแต่งตั้งรักษาการเพิ่ม รอดูนายกฯ มีคำสั่ง ถามถึงกรณีนักวิชาการระบุว่า การยุบสภาจะต้องมีเหตุผล จะยุบเพียงแค่ให้ ส.ส.ย้ายพรรค ไม่สามารถทำได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่จริง รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุการยุบสภาต้องใช้เหตุผล