รัฐบาลเคาะประกันภัยข้าวนาปี 1,647 ล้าน ทิ้งทวนก่อนยุบสภา

20 มี.ค. 2566 | 13:50 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2566 | 14:02 น.

รัฐบาลเคาะโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2566 วงเงิน 1,647 ล้าน ทิ้งทวนก่อนยุบสภา มอบคลังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

วันนี้ (20 มีนาคม 2566) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ หรือ นบข. โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2566 

โดยมีงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการ เฉพาะพื้นที่เอาประกันภัย การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) จำนวน 21.5 ล้านไร่ วงเงิน 1,647,435,000 บาท ทั้งนี้ได้มอบหมายกระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2566 ประกอบด้วยเรื่องต่าง ดังนี้

 

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2566

ผู้รับประกันภัย : บริษัทเอกชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2566 ตามกรมธรรม์

คุณสมบัติผู้เอาประกัน : เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวนาปี และปรับปรุงทะเบียนในปีการผลิต 2566 

พื้นที่รับประกันภัย : จำนวน 22 ล้านไร่ แบ่งเป็น การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) จำนวน 21.5 ล้านไร่ และการรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2) ไม่เกิน 5 แสนไร่

อัตราค่าเบี้ยประกันภัย แบ่งเป็น 

การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) แบ่งเป็น 4 อัตรา (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษี มูลค่าเพิ่ม) ดังนี้

  1. เกษตรกรลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ธ.ก.ส. 115 บาทต่อไร่ เท่ากันในทุกพื้นที่
  2. เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่นำร่อง 70 บาทต่อไร่
  3. เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงปานกลาง 199 บาทต่อไร่
  4. เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงสูง 218 บาทต่อไร่

การรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2) แบ่งเป็น 3 อัตรา (เกษตรกรจ่ายเองพร้อมทั้งอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ดังนี้ 

  1. พื้นที่เสี่ยงต่ำ 27 บาทต่อไร่
  2. พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 60 บาทต่อไร่
  3. พื้นที่เสี่ยงสูง 110 บาทต่อไร่

 

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2566

 

วงเงินคุ้มครอง แบ่งเป็น 

วงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ภัย ได้แก่

  1. น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก
  2. ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง
  3. ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น
  4. ภัยอากาศหนาว หรือน้ำค้างแข็ง
  5. ลูกเห็บ
  6. ไฟไหม้
  7. ช้างป่า

สำหรับการรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) มีวงเงินความคุ้มครอง 1,190 บาทต่อไร่ และการรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2) มีวงเงินความคุ้มครอง 240 บาทต่อไร่ รวมวงเงินความคุ้มครอง Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 1,430 บาทต่อไร่ 

วงเงินคุ้มครองภัยศัตรูพืชและโรคระบาด : รวมวงเงินความคุ้มครอง Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 715 บาทต่อไร่ แบ่งเป็น

  • การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) มีวงเงินความคุ้มครอง 595 บาทต่อไร่
  • การรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2) มีวงเงินความคุ้มครอง 120 บาทต่อไร่

 

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2566

 

การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยของ ธ.ก.ส. : ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 46 บาทต่อไร่ สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีของ ธ.ก.ส. ที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566 จำกัดพื้นที่สูงสุดไม่เกิน 30 ไร่ต่อราย

ส่วนการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยของรัฐบาล รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับการรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) ให้แก่ผู้เอาประกันภัย  ดังนี้

  1. เกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ค่าเบี้ยประกันภัยเท่ากันทุกพื้นที่ 115 บาทต่อไร่ (124.12 บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ธ.ก.ส. อุดหนุน 46 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 78.12 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) 
  2. เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่นำร่อง ค่าเบี้ยประกันภัย 70 บาทต่อไร่ (75.97 บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) เกษตรกรจ่าย 5 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 70.97 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) 
  3. เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงปานกลาง ค่าเบี้ยประกันภัย 199 บาทต่อไร่ (214 บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) เกษตรกรจ่าย 130 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 84 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) 
  4. เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงสูง ค่าเบี้ยประกันภัย 218 บาทต่อไร่ (234.33 บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) เกษตรกรจ่าย 149 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 85.33 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ทั้งนี้ คิดภาษีมูลค่าเพิ่มอัตรา 7% ของเบี้ยประกันภัยหลังจากรวมค่าอากรแสตมป์แล้ว และค่าเบี้ยประกันภัยทุก 250 บาท คิดค่าอากรแสตมป์ 1 บาท

 

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2566

 

ระยะเวลาการขายประกัน : กำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ และกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. และกำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ แตกต่างกันตามภาคภูมิศาสตร์ ดังนี้  

  • ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ จำนวน 58 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์  ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 
  • ภาคตะวันตก จำนวน 5 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2566
  • ภาคใต้ จำนวน 14 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2566

การพิจารณาค่าสินไหมทดแทน : จ่ายตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และจ่ายเพิ่มเติมกรณีที่เสียหายจริงแต่ไม่อยู่ในเขตประสบภัยตามที่ราชการกำหนด โดยวิธีการประเมินรายแปลงที่เป็นพื้นที่แปลงปลูกเสียหายสิ้นเชิง โดยการแจ้งความเสียหายและแสดงหลักฐานการเสียหาย เกษตรกรต้องบันทึกข้อมูลผ่าน Application “มะลิซ้อน”

งบประมาณ : งบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการฯ สำหรับพื้นที่เอาประกันภัย Tier 1 จำนวน 21.5 ล้านไร่ จำนวนทั้งสิ้น 1,647,435,000 บาท โดยให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลและเบิกเงินชดเชยจากรัฐบาลตามจำนวนที่จ่ายจริงรวมกับต้นทุนเงินในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาสบวก 1 ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับ 1.83%) ในปีงบประมาณถัดไป