กสทช. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้งหน่วยตรวจสอบเครื่องโทรคมนาคม

18 ก.พ. 2568 | 16:48 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2568 | 16:55 น.

กสทช. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้งหน่วยตรวจสอบเครื่องโทรคมนาคม เพื่อไปสู่มาตรฐานสากลรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมด้านนี้ที่เพิ่มมากขึ้น

พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านคลื่นความถี่และมาตรฐานทางเทคนิค เป็นประธานการประชุมการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป (Public Hearing) ต่อการปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตให้จัดตั้งหน่วยตรวจสอบเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ที่หอประชุมสำนักงาน กสทช. กรุงเทพฯ

 

พลอากาศโท ธนพันธุ์ กล่าวว่า กสทช. ได้เคยออกประกาศฯ ดังกล่าวตั้งแต่ 25 ธันวาคม 2563 เพื่ออนุญาต จัดตั้งหน่วยตรวจสอบที่มีหน้าที่ให้บริการด้านการทดสอบเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ตามมาตรฐานทางเทคนิคหรือข้อกำหนดทางเทคนิคที่ กสทช. กำหนด โดยมี 2 ประเภท คือ หน่วยตรวจสอบที่ได้รับการรับรองระบบงานจากระบบ การรับรองห้องปฏิบัติการทดสอบจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบว่ามีความสามารถตามข้อกำหนดในมาตรฐาน มอก. 17025-2561 หรือมาตรฐานที่เทียบเท่า ซึ่งเป็นหน่วยตรวจสอบประเภทที่ 2 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถอนุญาตจัดตั้งหน่วยตรวจสอบประเภทที่ 1 ที่มีการดำเนินงานที่สอดคล้องตามข้อกำหนดซึ่งอ้างอิงจากมาตรฐาน มอก. 17025-2561 หรือมาตรฐานที่เทียบเท่าในขอบข่ายการให้บริการทดสอบได้ เนื่องจากหลักเกณฑ์สำหรับผู้ประเมินและคุณสมบัติของผู้ตรวจประเมินไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ในปัจจุบัน ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถจัดตั้งหน่วยตรวจสอบประเภทนี้ ได้ จึงได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว รวมทั้งปรับปรุงอายุใบอนุญาตจาก 3 ปี เป็น 5 ปี และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้เหมาะสม

 

สำหรับตัวอย่างเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ที่ต้องยื่นจดทะเบียน หรือที่รู้จักในนามเครื่องประเภท ก (Class A) เช่น อุปกรณ์ไมโครโฟนไร้สาย อุปกรณ์เรดาร์ ที่หน่วยตรวจสอบประเภทที่ 1 และ ประเภทที่ 2 สามารถรับการยื่นจดทะเบียนได้ ดังนี้

กสทช. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้งหน่วยตรวจสอบเครื่องโทรคมนาคม

 

และตัวอย่างเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ ประเภท ข (Class B) เช่น อุปกรณ์โทรศัพท์ไร้สาย วิทยุสื่อสาร เป็นต้น ที่ต้องได้รับการรับรองจากหน่วยตรวจสอบประเภทที่ 2 เท่านั้น ดังนี้

 

กสทช. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้งหน่วยตรวจสอบเครื่องโทรคมนาคม

 

“ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยตรวจสอบประเภทที่ 2 ที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. เพื่อให้บริการ เช่น ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ PTEC และ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ หรือ EEI เป็นต้น แต่ยังไม่มีหน่วยตรวจสอบประเภทที่ 1 ทำให้ผู้ประกอบการต้องนำอุปกรณ์เครื่องโทรคมนาคมบางรายการไปตรวจสอบที่ต่างประเทศแทน ดังนั้นหากการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตให้จัดตั้งหน่วยตรวจสอบนี้ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่าง รอบด้านแล้ว และสามารถประกาศใช้ได้ ก็เชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยมีหน่วยตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น และสามารถอำนวยความสะดวกให้ภาคอุตสาหกรรมนำเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ต่างๆ มายื่นจดทะเบียนและตรวจสอบเพื่อรับรองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ธนพันธุ์ กล่าว.