ส่องโมเดลกฎหมายสิงคโปร์ "แก้หลอกลวงออนไลน์" 3 ฝ่ายร่วมรับผิดชอบ

12 ม.ค. 2568 | 02:47 น.

สกมช. กางโมเดลกฎหมายสิงคโปร์ ในการแก้ปัญหาหลอกลวงออนไลน์ แบ่ง 3 ฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบ และสิงคโปร์กำลังจัดทำกฎหมายใหม่ ที่เพิ่มอำนาจธนาคาร สั่งอายัดบัญชีที่กำลังมีความเสี่ยง

ในยุคดิจิทัลที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตและธุรกรรมออนไลน์กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน "ปัญหาภัยไซเบอร์" ที่ซับซ้อนและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นความท้าทายระดับชาติที่ต้องการมาตรการป้องกันที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

 

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)

ล่าสุด พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้เปิดเผยในงาน NCSA Press Relations 2025 ถึงร่างกฎหมายคุ้มครองเหยื่อภัยไซเบอร์ฉบับใหม่ของไทย ที่ยึดโมเดลจากประเทศสิงคโปร์เป็นต้นแบบ

"ตัวร่างกฎหมายผมยังไม่เคยเห็น แต่หากยึดตามกฎหมายสิงคโปร์ จะเป็นการแบ่งความรับผิดชอบระหว่าง 3 ฝ่ายหลัก ได้แก่ ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และผู้ใช้บริการที่เป็นเจ้าของบัญชี"

ส่องโมเดลกฎหมายสิงคโปร์ \"แก้หลอกลวงออนไลน์\" 3 ฝ่ายร่วมรับผิดชอบ

แนวคิดแบ่งความรับผิดชอบ 3 ฝ่าย

พล.อ.ต. อมร อธิบายประกอบกับสไลด์ว่า ในกฎหมายของสิงคโปร์ระบุว่าการป้องกันภัยไซเบอร์จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ใช่การผลักภาระไปยังธนาคารหรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเพียงฝ่ายเดียว แต่ผู้ใช้บริการเองก็มีบทบาทสำคัญในกระบวนการนี้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น หากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแจ้งเตือนว่าอย่าคลิกลิงก์ในข้อความ SMS ที่อาจเป็นอันตราย แต่ผู้ใช้บริการยังคงฝ่าฝืน หรือหากธนาคารแจ้งเตือนเกี่ยวกับธุรกรรมที่น่าสงสัย แต่ลูกค้ายังยืนยันจะดำเนินการโอนเงิน ความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีนี้จะตกเป็นความรับผิดชอบของผู้ใช้บริการเอง

ส่องโมเดลกฎหมายสิงคโปร์ \"แก้หลอกลวงออนไลน์\" 3 ฝ่ายร่วมรับผิดชอบ

พล.อ.ต.อมร ยกตัวอย่างข้อมูลจากระบบ True Cyber Safe ของไทย ที่เปิดใช้งานในช่วง 7 วันแรก พบว่ามีการแจ้งเตือนผู้ใช้งานถึงการคลิกลิงก์อันตรายกว่า 10.7 ล้านครั้ง และปรากฏว่ามีผู้ปฏิบัติตามคำเตือนถึง 10.3 ล้านครั้ง แต่ยังมีผู้ฝ่าฝืนคำเตือนกว่า 400,000 ครั้ง ซึ่งตามโมเดลกฎหมายสิงคโปร์ หากเกิดความเสียหาย ผู้ใช้บริการ 4 แสนคนที่ฝ่าฝืนคำเตือนจะต้องรับผิดชอบเอง

ส่องโมเดลกฎหมายสิงคโปร์ \"แก้หลอกลวงออนไลน์\" 3 ฝ่ายร่วมรับผิดชอบ

“ผมเห็นจากข่าวแล้ว หลายคนเข้าใจผิดว่ากฎหมายฉบับนี้จะผลักภาระทั้งหมดให้ธนาคารและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ แต่ถ้าเป็นไปตามกฏหมายของสิงคโปร์ ผู้ใช้บริการต้องมีความรับผิดชอบด้วย หากไม่ปฏิบัติตามคำเตือนหรือคำแนะนำที่ได้รับ” พล.อ.ต. อมรกล่าว

 

กฎหมายใหม่สิงคโปร์ เพิ่มอำนาจธนาคารมีสิทธิ์อายัดบัญชี

เลขาฯสกมช. เล่าต่อไปว่า นอกจากนี้สิงคโปร์ยังออกกฎหมายฉบับใหม่ คือการให้อำนาจธนาคารสามารถอายัดบัญชีลูกค้าได้ หากพบว่าบัญชีนั้นอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

ตัวอย่างเช่น กรณี Romance Scam ที่มิจฉาชีพแอบอ้างตัวเป็นคนรัก หรือกรณีการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งธนาคารสามารถดำเนินการอายัดบัญชีเพื่อหยุดยั้งการสูญเสียได้หากพบว่าบัญชีนั้นมีความเสี่ยงสูง

 

เสริมสร้างความรู้ประชาชนสำคัญกว่ากฎหมาย

แม้การออกกฎหมายจะเป็นก้าวสำคัญในการป้องกันภัยไซเบอร์ แต่พล.อ.ต. อมรยังย้ำว่า ความสำเร็จในการลดความเสียหายขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากประชาชนด้วย การให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงภัยไซเบอร์

"การหลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์จากแหล่งที่ไม่เชื่อถือ การตรวจสอบข้อมูลก่อนดำเนินการโอนเงิน หรือการใช้งานระบบการแจ้งเตือนของธนาคารและผู้ให้บริการมือถืออย่างเหมาะสม จะช่วยลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้อย่างมาก"

ส่องโมเดลกฎหมายสิงคโปร์ \"แก้หลอกลวงออนไลน์\" 3 ฝ่ายร่วมรับผิดชอบ ส่องโมเดลกฎหมายสิงคโปร์ \"แก้หลอกลวงออนไลน์\" 3 ฝ่ายร่วมรับผิดชอบ ส่องโมเดลกฎหมายสิงคโปร์ \"แก้หลอกลวงออนไลน์\" 3 ฝ่ายร่วมรับผิดชอบ ส่องโมเดลกฎหมายสิงคโปร์ \"แก้หลอกลวงออนไลน์\" 3 ฝ่ายร่วมรับผิดชอบ