ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด (iAPP) ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย AIEAT กล่าวกับ” ฐานเศรษฐกิจ“ภายหลังนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลงานครบรอบ 90 วันที่รัฐบาลได้ปฏิบัติหน้าที่ พร้อมมอบนโยบายแก่ข้าราชการระดับสูง ได้แก่ หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง กรม และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ภายใต้แคมเปญ ‘2568 โอกาสไทย ทำได้จริง : 2025 Empowering Thais: A Real Possibility’ โดยในเรื่องเทคโนโลยี และ AI รัฐบาลไทยตั้งเป้าจะเป็น AI Hub ของภูมิภาค เนื่องจากในปัจจุบัน มีบริษัทใหญ่มาลงทุนทำศูนย์ข้อมูล (Data center) เป็นเงินลงทุนมากกว่าล้านล้านบาทแล้ว
โดย ดร.กอบกฤตย์ ระบุถึงโอกาสของไทยในการเป็นฮับ AI ภูมิภาคนั้นมองว่าการปรับใช้ AI ในกลุ่มประเทศอาเซียนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งหมายความว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก
โดยไทยมีความพร้อมด้าน AI เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่ชัดเจน เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง (พลังงานสะอาดและอินเตอร์เน็ต) นอกจากนี้ยังมีทำเลที่ตั้งที่ดี กฎหมายเอื้อต่อการลงทุน และยุทธศาสตร์ภาครัฐที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ไทยยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้าน AI (AI Experts) และระบบนิเวศ AI (AI Ecosystem) ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น
ทั้งนีัมองว่าสิ่งที่ภาครัฐควรดำเนินการ คือ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Human Resource) โดยเฉพาะการสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ควรเร่งการกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนา AI Ecosystem ในภาพรวม เช่น การสนับสนุนการวิจัย การพัฒนานวัตกรรม และการให้ทุนการศึกษาและ สนับสนุนการตั้ง AI Cloud Data Center เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการให้บริการวิจัยและพัฒนา AI
ส่วนบทบาทของภาคเอกชนมองว่าการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างโซลูชันครบวงจร (Total Solution) แทนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์แยกส่วน (Spot Solutions) นอกจากนี้ต้องสนับสนุนความร่วมมือในอุตสาหกรรมเพื่อสร้าง Ecosystem ที่แข็งแกร่ง เช่น การแบ่งปันทรัพยากร การร่วมมือในโครงการวิจัย และการสร้างมาตรฐานที่สอดคล้องกัน
ขณะที่นายอโนทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไอบีเอ็มประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลาง AI ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งเน้นสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในเทคโนโลยี AI เพื่อดึงดูดบริษัทข้ามชาติที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมด้านนี้ในภูมิภาค
อย่างไรก็ตามหนึ่งในหัวใจสำคัญของการเป็น AI Hub คือการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะ ด้าน AI โดยไอบีเอ็มได้เริ่มสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 3 แห่ง เพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะด้าน AI พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน การสนับสนุนด้านการศึกษาและฝึกอบรมถูกออกแบบมาเพื่อให้บุคลากรมีความสามารถในการใช้งานและพัฒนาเทคโนโลยี AI ในหลากหลายอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับเอกชน ในนามสมาคมฯ เพื่อพัฒนาทักษะทางด้าน AI อย่างไรก็ตามมองว่าไอบีเอ็มทำเพียงรายเดียวไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องเข้ามาร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้าน AI