Google เผยฟีเจอร์ป้องโกงบล็อกแอปอันตรายบนอุปกรณ์ Android 1 ล้านเครื่อง

03 ธ.ค. 2567 | 12:06 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 12:22 น.

Google ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เผยผลลัพธ์ของโครงการความร่วมมือในการปกป้องคนไทยจากกลโกงออนไลน์ที่หลอกให้ติดตั้งมัลแวร์ด้วยฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่ใน Google Play Protect ที่ได้เริ่มนำร่องการใช้งานในประเทศไทยไปเมื่อต้นปีนี้

โดยตั้งแต่ที่เริ่มเปิดให้ใช้งานฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่ใน Google Play Protect ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ฟีเจอร์ดังกล่าวได้ช่วยบล็อกความพยายามในการติดตั้งแอปที่มีความเสี่ยงไปแล้วกว่า 4.8 ล้านครั้งบนอุปกรณ์ Android กว่า 1 ล้านเครื่อง บล็อกแอปไปกว่า 41,000 รายการ ซึ่งรวมถึงแอปปลอมที่แอบอ้างเป็นแอปรับส่งข้อความ แอปเกม และแอปอีคอมเมิร์ซยอดนิยม

Google เผยฟีเจอร์ป้องโกงบล็อกแอปอันตรายบนอุปกรณ์ Android 1 ล้านเครื่อง

ฟีเจอร์ความปลอดภัยใหม่ใน Google Play Protect ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยปกป้องผู้ใช้อุปกรณ์ Android จากกลลวงต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นด้วยการบล็อกการติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงซึ่งโหลดมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต (เช่น เว็บเบราว์เซอร์ แอปรับส่งข้อความ หรือโปรแกรมจัดการไฟล์) ที่อาจใช้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อน ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้ในกลโกงทางการเงิน

นาย ยูจีน ลีเดอร์แมน  (Eugene Liderman) ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ความปลอดภัยแอนดรอยด์  Google กล่าวว่า “แม้ว่าฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่ใน Google Play Protect จะให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ แต่เราก็ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากมิจฉาชีพมีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวงใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้จำเป็นต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงรุก ซึ่ง Google ก็มุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันใหม่ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ Android ทุกคนได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีและปลอดภัย

Google เผยฟีเจอร์ป้องโกงบล็อกแอปอันตรายบนอุปกรณ์ Android 1 ล้านเครื่อง

นอกจากนี้ การร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่สำคัญ เช่น รัฐบาลไทยและนักพัฒนาแอป ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศของโทรศัพท์มือถือที่ปลอดภัยและทำให้ผู้ใช้ตัดสินใจได้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งจะช่วยเสริมความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับทุกคน”

ด้านนางสาว แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่าง Google กับรัฐบาลไทยในการปกป้องคนไทยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยกล่าวว่า “ดิฉันดีใจที่ได้เห็นความคืบหน้าของความร่วมมือระหว่าง Google และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการต่อสู้กับกลลวงบนโลกออนไลน์ ท่ามกลางการระบาดของภัยการหลอกหลวงทางโทรศัพท์ในประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้คนไทยพร้อมรับมือกับกลโกงรูปแบบต่างๆ ซึ่ง Google มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนไทยทั่วประเทศ”

Google เผยฟีเจอร์ป้องโกงบล็อกแอปอันตรายบนอุปกรณ์ Android 1 ล้านเครื่อง

ความมุ่งมั่นในเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมีคดีหลอกลวงและกลโกงทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าในปีที่ผ่านมาผู้คนจะตระหนักถึงกลโกงทางออนไลน์กันมากขึ้น แต่กลับพบว่า 7 ใน 10 ของผู้ใช้ออนไลน์ในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางออนไลน์ ทั้งๆ ที่มีความมั่นใจว่าตนเองนั้นสามารถมองกลโกงออกและหลีกเลี่ยงได้

สำหรับกลไกการทำงานของฟีเจอร์ความปลอดภัยใหม่ใน Google Play Protect นั้น หากผู้ใช้พยายามติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต (เช่น เว็บเบราว์เซอร์ แอปรับส่งข้อความ หรือโปรแกรมจัดการไฟล์) ที่อาจใช้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อน ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้ในกลโกงทางการเงิน Google Play Protect จะบล็อกการติดตั้งโดยอัตโนมัติ

โดยจะตรวจสอบสิทธิ์ของแอปแบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะสิทธิ์ 4 รายการนี้ ซึ่งได้แก่ การรับ SMS (RECEIVE_SMS) การอ่าน SMS (READ_SMS) การฟังการแจ้งเตือน (BIND_Notifications) และการช่วยเหลือพิเศษ (Accessibility) มิจฉาชีพมักจะใช้สิทธิ์เหล่านี้เพื่อดักจับรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (One-time Password หรือ OTP) ที่ส่งมาทาง SMS หรือการแจ้งเตือน รวมทั้งแอบส่องเนื้อหาบนหน้าจอของผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้พยายามติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต และมีการขอใช้สิทธิ์เหล่านี้ Google Play Protect จะบล็อกการติดตั้งโดยอัตโนมัติ พร้อมแสดงคำอธิบายให้ผู้ใช้ทราบ

Google ยังคงยึดมั่นในพันธกิจ Leave No Thai Behind และเดินหน้าส่งเสริมศักยภาพของคนไทยด้วยการให้ความรู้และเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อให้พวกเขาสามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย นอกจากนี้ Google ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบนิเวศออนไลน์ที่ส่งเสริมนวัตกรรมและความปลอดภัยไปพร้อมๆ กัน โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นความเป็นส่วนตัว มีความปลอดภัยโดยค่าเริ่มต้น และให้ผู้ใช้ควบคุมประสบการณ์การใช้งานด้วยตนเอง