โดยล่าสุด AIS ได้เปิดตัวผลสำรวจดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย Thailand Cyber Wellness Index 2024 อีกครั้งเป็นปีที่ 2 ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อเป็นมาตรวัดทักษะทางไซเบอร์ และพร้อมส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนที่สามารถนำผลการศึกษาไปต่อยอดเพื่อสร้างความรู้ ทักษะ รวมถึงเส้นทางในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยได้ตรงกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เปิดเผยว่า “ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทย การป้องกันภัยไซเบอร์กลายเป็นประเด็นที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ทำให้การทำงานของ AIS ในฐานะผู้นำด้านบริการดิจิทัลที่มุ่งส่งเสริมการใช้งานออนไลน์ที่ถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยยิ่งทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ทั้งในมุมของการสร้างภูมิปัญญาหรือ Wisdom ที่จะนำไปสู่การสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีความรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ และในมุมของการใช้ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีมาส่งมอบเครื่องมือปกป้องภัยไซเบอร์และมิจฉาชีพที่แฝงมากับการใช้งานออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ”
ในมุมมองของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี โดย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี มองว่า “การจัดทำ Thailand Cyber Wellness Index 2024 ของ AIS ส่งผลดีหลายแง่มุม โดยที่ผ่านมาทางกระทรวงได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐ ที่อยู่ภายใต้กระทรวงดีอี อาทิ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ร่วมมือกับเอกชน ในการบรูณาการข้อมูล จัดเก็บข้อมูลสถิติต่างๆ ที่สามารถนำมาประกอบการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งถ้าหากไม่มีข้อมูล ก็ไม่สามารถบริหารจัดการได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด”
ขณะที่ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตํารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) กล่าวเสริมว่า “ประเทศไทยมีปัญหาอาชญากรรมออนไลน์เป็นอันดับ 6 ของโลก มีสถิติการแจ้งความอาชญากรรรมผ่านออนไลน์ 6 แสนกว่าเรื่อง โดยมีสถิติความเสียหายล่าสุดวันละ 111 ล้านบาท ทั้งนี้ภาคเอกชน อย่าง AIS มีส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ เช่น กรณีซิมบ๊อกซ์ (SIM BOX) ที่ตำรวจไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยตรวจสอบซิมบ๊อกซ์ ก็ได้ความร่วมมือจาก AIS ที่นำเครื่องมือมาช่วยในการทำงาน ส่งผลให้เราสามารถจับกุมมิจฉาชีพได้สำเร็จ”
สำหรับปีนี้ ผลดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย Thailand Cyber Wellness Index 2024” มีค่าเฉลี่ย 0.68 อยู่ในระดับพื้นฐาน แม้ปีนี้ผลศึกษาสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีการพัฒนาความเข้าใจในการใช้งานบนโลกดิจิทัลเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่มีจุดน่ากังวล คือ คนไทยเกินครึ่งขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
โดยเฉพาะประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อภัยที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อการใช้งานของตนเองและองค์กร เช่น ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์, การใช้ Wi-Fi สาธารณะทำธุรกรรมทางการเงิน, การใช้วันเดือนปีเกิด มาตั้งเป็นรหัสผ่าน ซึ่งง่ายต่อการคาดเดา หรือไม่ทราบว่าการเข้าเว็บไซต์ที่ปลอดภัยลิงก์ URL ควรจะเป็น HTTPS เป็นต้น
หากเจาะลึกข้อมูลลงไปจะพบว่า 3 กลุ่มอายุที่มีค่าเฉลี่ยสุขภาวะทางดิจิทัลต่ำที่สุด หรือ กลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย อันดับ 1 เด็กอายุ 10-12 ปี อันดับ 2 เยาวชนอายุ 13-15 ปี และอันดับ 3 วัยเกษียณอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะต่อไป
จากผลการสำรวจดังกล่าวทำให้ปีนี้ และปีหน้า AIS ประกาศยกระดับการเพิ่มทักษะดิจิทัลในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมพัฒนาเครื่องมือเช็กภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์แบบรายบุคคล หรือ Digital Health Check พร้อมศึกษาความรู้เพิ่มเติมได้จากหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ อันจะนำไปสู่การสร้างพลเมืองดิจิทัลอย่างมีคุณภาพและรู้เท่าทันทุกภัยไซเบอร์ต่อไป