แก๊งคอลเซ็นเตอร์ฉกเงินเหยื่อไทย 2.6 แสนล้าน ปลุกเยาวชนไทยรู้ทันภัยไซเบอร์

28 มิ.ย. 2567 | 16:03 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2567 | 16:22 น.

ไทยเสียรู้โจรออนไลน์สูญ 260,000 ล้าน เผยแก๊งคอลเซ็นเตอร์โอนผ่านเงินคริปโต “ฐากร” เปิดเวที กมธ.อว.ปลุกพลังเยาวชนรู้ทันอาชญากรรมไซเบอร์ และใช้นวัตกรรมสร้างอนาคตทางการศึกษา

วันที่ 28 มิถุนายน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  สภาผู้แทนราษฏร  เป็นประธานเปิดการอบรม เรื่อง “บทบาทสำคัญของเทคโนโลยี และนวัตกรรม สมัยใหม่ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทย ในยุค 5G” แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวนกว่า 500 คน  ว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากจะเปลี่ยนสังคมไทยแล้วยังเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบสาธารณสุข ด้านการเกษตร ที่ สำคัญยิ่งคือด้านการศึกษา วันนี้แค่ก้าวเดินธรรมดายังไม่พอ แต่ต้องก้าวให้เร็วกว่านี้ กมธ.อว.จึงจัดงานในวันนี้เพื่อให้ลูกหลานของเราจะได้เรียนรู้ความสำคัญของเทคโนโลยี และภัยของเทคโนโลยี โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย และประโยชน์ของปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ  

“ประเทศเรามีระบบโทรคมนาคมที่ดีที่สุดของโลก เช่นเดียวกับระบบสาธารณสุขของเราดีที่สุดในโลก รักษาได้ทุกโรงพยาบาล ดังนั้นต้องช่วยกันพัฒนา และนำเทคโนโลยีของเรามาใช้ให้เกิดประโยชน์ การศึกษาในวันนี้กำลังจะเข้าสู่ปริญญาออนไลน์ ในโลกอนาคตจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นขอให้น้อง ๆ หลาน ๆ ตั้งใจศึกษา น้อง ๆ หลาน ๆ เป็นกำลังหลัก และเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการพัฒนา ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในมือของลูก ๆ หลาน ๆ ไม่ใช่พ่อแม่ของเราแล้ว เราต้องการสร้างอนาคตที่ดีให้กับลูกหลานที่ สังคม และประเทศชาติ” นายฐากร กล่าว

จากนั้นมีการอภิปรายบนเวที เรื่องบทบาทสำคัญของเทคโนโลยี และนวัตกรรม สมัยใหม่ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทย ในยุค 5G โดย นางสาวธีตานันตร์ รัตนแสนยานุภาพ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและจัดการทรัพยากรโทรคมนาคม กสทช., นายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล หัวหน้างานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัททรู คอร์เปอเรชั่น จำกัด ( มหาชน ) นายเฉลิมเกียรติ โสมทัพมอญ หัวหน้างานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด ( มหาชน ) และนายศศิธร สกุลปีบ ผู้จัดการฝ่ายขาย และปฏิบัติการลูกค้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่ 2 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ( มหาชน ) 

นางสาวธีตานันตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายสำคัญผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบ 2G  3G  4G และการประมูลคลื่นความถี่ต่าง ๆ ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีการใช้ระบบ 5G ซึ่งเป็นความภูมิใจอย่างมาก จะเห็นว่าประโยชน์ของโทรคมนาคมคือทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว และสามารถที่จะใช้ในภารกิจที่สำคัญ โดยโรงเรียนเป็นเป้าหมายหนึ่งที่โอเปอเรเตอร์ หรือผู้ประกอบการโทรคมนาคม ให้การสนับสนุน เพื่อให้น้องน้อง ๆ เข้าถึงระบบการศึกษา ทั้งอินเตอร์เน็ต Wi-Fi ต่าง ๆ และยังมีศูนย์ USO ตามโรงเรียนสามารถที่จะเป็นกลไกรองรับการพัฒนา และเข้าไปเรียนรู้ออนไลน์

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ฉกเงินเหยื่อไทย 2.6 แสนล้าน ไหลผ่านคริปโต

 

 


 

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ฉกเงินเหยื่อไทย 2.6 แสนล้าน ไหลผ่านคริปโต

“ขณะที่เทคโนโลยีมีประโยชน์กับการพัฒนา เทคโนโลยีก็มีปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งคงจะได้เห็นจากข่าว อยากมาคุยให้ฟังถึงภัยอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งค่ายมือถือได้ดำเนินการ ขณะเดียวกัน กสทช.ก็มีความร่วมมือในระดับต่าง ๆ ไม่ว่าระดับของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร ตำรวจ ที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่ขึ้น ทุกวันนี้ถ้าเห็นมือถือโทรเข้ามามีเครื่องหมายบวก ( + )  อยู่ด้านหน้าหมายเลขที่โทรเข้า ให้รู้ไว้เลยว่าเป็นสายที่มาจากต่างประเทศ ถ้าเราไม่มีญาติ หรือไม่มีธุรกิจอะไรที่อยู่ในต่างประเทศก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่านี้น่าจะเป็นเบอร์จากมิจฉาชีพ จะต้องไม่รับสาย โดยกสทช.ร่วมกับค่ายมือถือ ทำฟีเจอร์พิเศษสามารถป้องกันสายโทรเข้าจากต่างประเทศ ที่เป็นของมิจฉาชีพ โดยสามารปฏิเสธการรับสายโดยการกด *138*1# แล้วโทรออก” ผอ.สำนักวิชาการฯ กสทช.กล่าว

ด้านนายเลิศรัตน์ กล่าวว่า ภัยอาชญากรรมออนไลน์รุนแรงมาก ดูจากสถิติจะเห็นว่าเริ่มรุนแรงหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ประมาณเดือน มีนาคม 2565 เพราะว่าธุรกิจสีเทา ที่เริ่มจากกาสิโนตามแนวชายแดนไม่มีคนไปเล่นก็ปรับตัวมาอยู่บนโลกออนไลน์แทน ใช้วิธีการหลอกลวงหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะส่ง SMS หรือโทรศัพท์หาเหยื่อให้หลงเชื่อ โดยใช้ ความโลภ และ ความกลัว ล่อใจโดยให้ของฟรีต่าง ๆ ทำให้กลัวว่าจะพลาดโอกาสดี ๆ ดังนั้น เยาวชนต้องมีหน้าที่ในการเตือนพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย รวมทั้งตัวเองด้วย เพราะทุกวันนี้ภัยออนไลน์เข้าไปอยู่ในเฟซบุ๊ก ไลน์ TIKTOK และแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ เพราะฉะนั้นต้องมีสติอย่าหลงเชื่อ

นายเลิศรัตน์ เปิดเผยถึงสถิติการเกิดอาชญกรรมออนไลน์พบว่า ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 จนถึง 31 พฤษภาคม 2567 มีการความแจ้งความคดีออนไลน์ มากกว่า 540,000 คดี และยังมีที่ไม่แจ้งความอีกมาก โดยเฉพาะรุ่นเด็ก ๆ หลายคนที่ถูกหลอกลวงไม่กล้าแจ้งความ หรือกลุ่มที่ถูกหลอกลวงด้วยวิธีโรแมนซ์สแกม หลอกให้รักแล้วโอนเงิน หรือไฮบริดสแกม หลอกให้รักแล้วลงทุน เหยื่อส่วนมากจะอาย ไม่อยากมีปัญหากับครอบครัวหรือคนรัก คนเหล่านี้จะไม่กล้าไปแจ้งความ 

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติเก็บสถิติการจากการแจ้งความออนไลน์ 14 รูปแบบ จะเห็นได้ว่า 90% เป็นการหลอกลวง และต่ำกว่า 5% มีการโจมตีเข้าไปที่เครื่องมือถือ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้าถามหาความเสียหายมากน้อยขนาดไหน ดูได้จากการขออายัดบัญชีมิจฉาชีพ มากถึง 378,471 บัญชี ยอดเงิน 27,010,838,181 บาท อายัดได้ทันเพียง 6,279,464,798 บาท หรือ 23 % โดยประมาณ มูลค่าความเสียหายจากอาชญากรรมออนไลน์ภาพรวม 62,366,263,016 บาท แต่เชื่อไหมว่าตัวเลขที่ไม่เป็นทางการที่ผมทราบมามันมากกว่านี้ มีข้อมูลเปิดเผยในเวทีวิชาการของอัยการทั่วประเทศครั้งล่าสุดพบว่า ประเทศไทยมีการโอนเงินออกไปในรูปแบบคริปโทเคอร์เรนซี และพบความเกี่ยวพันกับอาชญากรรมออนไลน์ มากกว่า 200,000 ล้านบาท ดังนั้นน้อง ๆ จะต้องเตือนสติตัวเองได้ว่าเหรียญมีสองด้านคือทั้งบวก และลบ แล้วใช้ประโยชน์ในแง่ดีเพื่อเตรียมตัวสอบ หรืออนาคตของตัวเอง”  หัวหน้างานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรูฯ กล่าว

ขณะที่นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า เยาวชนสามารถเรียนรู้จากอินเตอร์เน็ต เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่ดีที่สุดของโลก ขอยืนยันเพราะว่าประเทศเราเป็นประเทศแรกที่ได้ 5 จี และอนาคตกำลังจะไปที่ 6 จี ซึ่งจะไปอย่างรวดเร็วและในตลาดโลกการค้าขายในอนาคตสามารถท่องอินเตอร์เน็ตซื้อ และ ขายสินค้าไปทั่วโลก ไม่ได้ซื้อขายแค่ในอำเภอนา เราจะเห็นทุกอย่างของโลกใบนี้ ทั้งของที่ดีและของที่ไม่ดีเช่นเราเห็นคนในประเทศอื่นซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้า น้อง ๆ บางคนซื้อมา แต่ในประเทศเราทำไม่ได้ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นเราต้องตระหนักถึงการเรียนรู้ว่าสิ่งไหนควรไม่ควร และเหมาะสมในวัยของเราหรือไม่ ขณะเดียวกันต้องช่วยบอก พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เตือนให้รู้เท่าทันวิธีของมิจฉาชีพ จะได้ไม่หลงกลตกเป็นเหยื่อ

ด้าน นายศศิธร กล่าวว่า ขอฝากเด็ก ๆ ทุกคนไว้ว่าอย่าโลภ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์ เรามีความหวังว่าต้นกล้าในวันนี้ที่จะก้าวสู่อนาคตของประเทศไทย และขอให้น้อง ๆ ช่วยเป็นหูเป็นตา ถ้าไปเจอสถานที่ที่ดูแล้วให้บริการแบบข้อสงสัย เช่นเป็นบ้านร้าง อาคารร้าง แต่มีสายเคเบิลเยอะไปหมดอย่างนี้ ให้แจ้งเบาะแส เป็นกระบอกเสียง แจ้งกับ กสทช.หรือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์