ผ่าธุรกิจดาวเทียมไทยคม ภายใต้ปีก "GULF" หลังคว้าใบอนุญาตดาวเทียม 20 ปี

18 ก.ค. 2567 | 10:54 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2567 | 12:41 น.

ผ่าธุรกิจดาวเทียมไทยคม ภายใต้ปีก "GULF" หลังคว้าใบอนุญาตดาวเทียม 2 ตำแหน่ง ระยะเวลา 20 ปี ตั้งเป้าสู่ธุรกิจ " New Space"

ถ้าจำกันได้ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยคม แรกเริ่มเดิมที GULF หรือ บริษัท  กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ไม่ได้มีความสนใจที่อยากจะเข้ามาถือหุ้น "ไทยคม"  เนื่องจากอนาคตของธุรกิจดาวเทียมไม่หวือหวา เพราะภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็น การบรอดคาสต์ หรือ บรอดแบนด์ ต่างก็พึ่งพิงดาวเทียมน้อยลง 

แต่สุดท้ายเมื่อเดือพฤศจิกายน 2565  GULF ตัดสินใจให้ บริษัท กัลฟ์ เวนเซอร์ส ดีเวลลอปเมนท์  จำกัด (มหาชน) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าซื้อหุ้นใน ไทยคม  จาก บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ในมูลค่าประมาณ 10,873.33 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การซื้อหุ้น THCOM ทั้งหมด ใน INTUCH 41.13% และ การซื้อหุ้น THCOM ที่เหลือ จากนักลงทุนอีก 58.87%

 

การตัดสินใจของ GULF ที่เข้ามาถือหุ้นใน ไทยคม เพราะ กสทช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  กำลังเตรียมจะประมูลวงโคจรดาวเทียมดวงใหม่ ซึ่ง GULF เชื่อว่าจะมีโอกาสเพิ่มรายได้ให้กับ ไทยคม ในอนาคต

ตั้งเป้าสู่ " New Space" 
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เคยออกมาเปิดเผยถึงเหตุผลที่เข้ามาถือหุ้น ไทยคม เป็นเพราะธุรกิจมีความน่าสนใจและเหมาะสมกับบริษัทฯ ในหลายมิติ ทั้งด้านยุทธศาสตร์ การเติบโต และเพิ่ม ศักยภาพการต่อยอดไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้

  • เป็นการลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ซึ่งมีโอกาสในการพัฒนาธุรกิจได้หลายรูปแบบอย่าง ต่อเนื่อง
  • เป็นบริษัทไทยที่ประกอบธุรกิจในหลากหลายประเทศ ไม่ได้อิงรายได้จากภายในประเทศ (Local based) เพียง อย่างเดียว
  •  มีโอกาสในการต่อยอดไปสู่ธุรกิจ New Space ที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต
     

สเปซ เทคฯ คว้าใบอนุญาต 2 ชุดเกือบ 800 ล้านบาท
ต้นเดือนมกราคม 2566 กสทช. เปิดประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ตามประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ใบอนุญาตมีระยะเวลา 20 ปี แบ่งจ่ายค่าใบอนุญาต ดังนี้

  • งวดแรก ภายใน 90 วันจำนวน 10% 
  • งวดที่ 2 ปีที่ 4 จำนวน 40% 
  • งวดสุดท้ายปีที่ 6 จำนวน 50% 

โดย บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (บริษัทย่อยบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM) ชนะประมูลชุดที่ 2 ได้รับสิทธิ์วงโคจร  78.5E ราคาสุดท้ายอยู่ที่ 380,017,850 บาท   พื้นที่ให้บริการดังนี้

  • ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ทวีปเอเชียเหนือ
  • ทวีปออสเตรเลีย
  • ทวีปแอฟริกา
  • ภูมิภาคอินโดจีน

ชุดที่ 3  วงโคจรที่ 119.5 องศาตะวันออก ผู้ชนะประมูล บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ราคา 417,408,600 บาท พื้นที่ให้บริการ

  • ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ทวีปเอเชียเหนือ
  • ทวีปออสเตรเลีย
  • ภูมิภาคอินโดจีน

สำหรับตำแหน่งโคจร 3 ตำแหน่ง (78.5E, 119.5E และ 120E) ซึ่งตำแหน่งวงโคจรนี้ ยังมีดาวเทียมไทยคม 6 และไทยคม 8 ใช้งานอยู่ที่ตำแหน่ง 78.5E, ไทยคม 4 สำหรับตำแหน่ง 119.5E และไทยคม 7 สำหรับตำแหน่ง 120E 

ผ่าธุรกิจดาวเทียมไทยคม ภายใต้ปีก "GULF" หลังคว้าใบอนุญาตดาวเทียม 20 ปี

 

 

เลือก ASTRANIS จากสหรัฐอเมริกา สร้าง ‘ไทยคม 9’

Astranis บริษัทผู้ผลิตและให้บริการดาวเทียมชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในการสร้างดาวเทียมไทยคม 9 (THAICOM-9) ให้แก่ไทยคม เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่วงโคจร 119.5 องศาตะวันออก ด้วยดาวเทียมเทคโนโลยี High Throughput Satellite

หลังได้รับใบอนุญาต จาก กสทช.  บริษัท สเปซเทค อินโนเวชั่น จำกัด หรือ STI บริษัทในเครือไทยคม ได้เซ็นสัญญาให้ Astranis สร้างดาวเทียมไทยคม 9  (เพื่อทดแทนดาวเทียมไทยคม 4) ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก รุ่น MicroGEO  กำหนดขึ้นสู่วงโคจรในปี พ.ศ. 2568

ดาวเทียมดวงนี้เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเมื่อโคจรอยู่บนอวกาศ โดยมีการติดตั้งระบบเทคโนโลยี Software-defined Radio ประสิทธิภาพสูง ทำให้สามารถปรับพื้นที่การให้บริการ จัดสรรช่องสัญญาณ ตลอดจนควบคุมย่านความถี่ ระดับพลังงาน และระบบการทำงานอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละพื้นที่ได้

สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน "ไทยคม"

ไทยคม ซึ่งได้รับสัญญาสัมปทานจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ได้สิ้นสุดสัญญาสัมปทานระยะเวลา 30 ปี (11 กันยายน - 10 กันยายน 2564)  ปัจจุบัน ไทยคม มีดาวเทียมให้บริการ 4 ดวง ดังนี้

  • ไทยคม 4
  • ไทยคม 6
  • ไทยคม 7
  • ไทยคม 8.