นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การขยายตัวของภัยไซเบอร์ที่มีรูปแบบหลากหลายและส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย ทรู คอร์ปอเรชั่น มิได้นิ่งนอนใจ โดยบริษัทได้ร่วมสนับสนุนทุกมาตรการภาครัฐในการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามจากมิจฉาชีพออนไลน์มาโดยตลอด
ล่าสุดทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ยกระดับมาตรการเชิงรุกขึ้นเป็นวาระสำคัญของบริษัท ด้วยการนำทรัพยากรทั้งบุคคลและเทคโนโลยีมาใช้ในการป้องกันและแก้ไขมิให้มีการนำซิมและเลขหมายไปใช้เป็นเครื่องมือประกอบอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ
โดยมาตรการเชิงรุกที่นำมาใช้ครอบคลุมทั้งมาตรการการขายที่เข้มงวดรัดกุมขึ้นต้องลงทะเบียนซิมการ์ดทันที และยังได้ดึงเทคโนโลยี AI และ Data Analytic เข้ามาตรวจสอบและประมวลผลการลงทะเบียนซิมการ์ดที่มีความเสี่ยงต่อการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้หยุดกระจายซิมดังกล่าวในท้องตลาด ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีการลดจำนวนซิมที่อาจจะถูกนำไปใช้ในทางผิดกฎหมายได้สูงถึง 500,000 ซิมต่อปี อีกทั้ง ยังนำเทคโนโลยี AI และ Data Analytic วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานซิมและเลขหมาย เพื่อกำหนดแพคเกจการใช้งานที่ไม่เอื้อต่อกลุ่มมิจฉาชีพในการนำไปใช้หลอกลวงหรือก่ออาชญากรรมไซเบอร์
เพิ่มกฏเหล็กคุมเข้มคู่ค้าที่ฝ่าฝืน
นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังได้เพิ่มมาตรการคุมเข้มในการทำงานร่วมกับคู่ค้ารายย่อย โดยกำหนดข้อปฏิบัติที่ชัดเจนในการตรวจสอบและลงทะเบียนซิมการ์ด หากพบว่ามีการฝ่าฝืนข้อกำหนด บริษัทจะดำเนินมาตรการที่เริ่มจากการตักเตือน ลดค่าตอบแทนการขาย และยกเลิกการเป็นคู่ค้าในที่สุด
โดยล่าสุดเราได้มีการยกเลิกไปแล้วกว่า 500 ราย มาตรการเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อป้องกันการนำซิมไปใช้งานในทางที่ผิด และเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าทั้งทรูและดีแทค ยิ่งไปกว่านั้น เรายังทำงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยทันทีที่พบว่า มีกลุ่มบุคคลที่อาจเป็นมิฉฉาชีพเข้ามาขอซื้อซิมกับร้านค้าภายในห้างสรรพสินค้า ก็จะทำการติดต่อแจ้งเบาะแสกับทางตำรวจ เพื่อให้ดำเนินการต่อได้ทันท่วงที
มั่นใจมาตรการเชิงรุกลดภัยไซเบอร์ และเพิ่มลูกค้าคุณภาพ
ทรู คอร์ปอเรชั่น มั่นใจว่ามาตรการเชิงรุกนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทะเบียนซิม ป้องกันมิจฉาชีพนำซิมและเลขหมายไปใช้งานในทางที่ผิดกฎหมาย และลดจำนวนภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ประชาชนต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมซเบอร์ อีกทั้งจะส่งผลต่อการเติบโตของลูกค้าที่มีคุณภาพ และทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลดีขึ้นตามไปด้วย