อินโนซุส ทุ่ม100 ล้าน เปิด Thai AI Cloud ยกระดับพัฒนา AI พันธุ์ไทย

29 มิ.ย. 2567 | 20:00 น.

อินโนซุส ทุ่ม 100 ล้านบาท ประกาศเปิดตัว Thai AI Cloud แพลตฟอร์ม AI Infrastructure ออกแบบและพัฒนาโดยคนไทย เพื่อคนไทย ถือเป็นก้าวสำคัญดัานการพัฒนา AI ของไทย รวมถึงต่อยอดเทคโนโลยีด้าน AI และระบบคลาวด์ประสิทธิภาพสูงของประเทศ

ดร.นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนซุส จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงทุนเบื้องต้น 100 ล้านบาท ออกแบบและพัฒนาระบบคลาวด์สำหรับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI โดยเฉพาะแห่งแรกในไทย ภายใต้ชื่อแพลตฟอร์ม “Thai AI Cloud” โดยระบบคลาวด์ดังกล่าวจะช่วยทำให้นักพัฒนาด้าน AI ของไทยมีเครื่องมือที่เป็นที่สำคัญในการพัฒนา AI

ช่วยให้นักพัฒนาสามารถพัฒนารวดเร็วขึ้น และโครงสร้างพื้นฐานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ทำให้ข้อมูลไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ รวมถึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอธิปไตยด้าน AI ของประเทศ 

Thai AI Cloud เป็น Cloud Infrastructure ที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นแห่งแรกๆ ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยนำเอา High Power Computing มาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ใช้หน่วยประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในปัจจุบัน โดย Thai AI Cloud ถือเป็นระบบที่มีความ เร็วการประมวลผลเร็วอันดับท็อป 3 ของประเทศ เพื่อให้เกิดการประมวลผลที่รวดเร็ว สร้างสภาวะแวดล้อมด้านดิจิทัลที่เหมาะกับการฝึกระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI)

อินโนซุส ทุ่ม100 ล้าน เปิด Thai AI Cloud ยกระดับพัฒนา AI พันธุ์ไทย

ความสามารถของ Thai AI  Cloud ครอบคลุมงานหลากหลายด้าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพของระบบ โดยสามารถรองรับงานต่างๆ ได้ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics): Thai AI Cloud สามารถสร้างโมเดลที่มีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในยุคที่ข้อมูลกลายเป็นทรัพยากรสำคัญทางธุรกิจและการพัฒนา

การสร้างภาพ 3 มิติซับซ้อน: ด้วยประสิทธิภาพการประมวลผลที่สูง Thai AI Cloud สามารถรองรับงานที่ต้องการทรัพยากรการประมวลผลสูง เช่น การสร้างภาพ 3 มิติที่มีความซับซ้อนมาก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเกม ภาพยนตร์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์

การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning): Thai AI Cloud เหมาะสำหรับงานที่ต้องการการจดจำและวิเคราะห์ภาพความละเอียดสูง เช่น การตรวจจับวัตถุ การรู้จำใบหน้า และการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาเทคโนโลยีการมองเห็นของคอมพิวเตอร์ (Computer Vision) และระบบอัตโนมัติต่างๆ

การประมวลผลเสียง: ระบบนี้รองรับการพัฒนาระบบรู้จำเสียงพูด (Speech Recognition) และการแปลงเสียงเป็นข้อความภาษาไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์

การเรียนรู้จากข้อมูลเฉพาะทาง: Thai AI Cloud สามารถรองรับข้อมูลจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียม จีโนมิกส์ เภสัชกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์ การจำลองสภาพแวดล้อมเสมือน และระบบความปลอดภัยและความมั่นคง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและการประยุกต์ใช้ในวงกว้าง

Thai AI Cloud เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความต้องการของนักพัฒนาและนักวิเคราะห์ด้าน AI ของประเทศ ไทย โดยบริษัทมุ่งหวังว่า ทุกคนสามารถเข้าถึง Thai AI Cloud ได้ ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ ผู้พัฒนาอิสระ นักคิด นักวิเคราะห์สถาบันการเงิน หน่วยงานธุรกิจเอกชน หน่วยงานความมั่นคงของชาติหรือ หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ นำไปสู่การสร้างเสริมศักยภาพของประเทศไทยในการแข่งขันระดับสากล

การพัฒนา Thai AI Cloud คำนึงถึงความต้องการของนักพัฒนาและนักวิเคราะห์ด้าน AI ชาวไทยเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ นักพัฒนาอิสระ นักคิด นักวิเคราะห์ในสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจเอกชน หน่วยงานด้านความมั่นคง หรือหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการแข่งขันบนเวทีระดับนานาชาติ การเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ ช่วยสร้างระบบนิเวศทางนวัตกรรมที่แข็งแกร่งและยั่งยืนสำหรับประเทศไทย ซึ่งเบื้องต้นจะเปิดกลุ่มผู้พัฒนา OpenThaiGPT ซึ่งเป็น  AI Chatbot ของคนไทยเข้ามาใช้งาน

นอกจากนี้ การพัฒนา Thai AI Cloud ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในประเทศ รวมถึงการสร้างความมั่นคงทางด้านข้อมูลและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัล การมีแพลตฟอร์ม AI ของตนเองจะช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านข้อมูลให้กับประเทศไทย

ดร.นพ.พลวรรธน์ กล่าวต่อไปอีกว่า Thai AI Cloud จะมีรูปแบบการให้บริการแบบไทม์แชริ่ง ผู้ใช้บริการสามารถเลือกเวลาการให้บริการ เมื่อใช้เสร็จก็คืนทรัพยากรทั้งหมดมาให้กับผู้ใช้งานอื่นต่อ ทำให้มีราคาบริการตํ่ากว่าผู้ให้บริการคลาวด์ต่างประเทศ โดยเบื้องต้นตั้งเป้าหมายมีผู้ใช้ประมาณ 80% ของทรัพยากรที่มีอยู่