ประธานกสทช. ยืนยันคุณสมบัติครบถ้วน วุฒิสภารับรองถูกต้อง 

11 พ.ค. 2567 | 12:23 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2567 | 12:33 น.

ประธาน กสทช. ย้ำไม่ได้เป็นบอร์ดธนาคารกรุงเทพและไม่รับเงินเดือนแพทย์รามาธิบดี เตือนบทบาท กมธ.ไอซีที เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่หรือไม่

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา จะพิจารณาคุณสมบัติว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบความคืบหน้าใดๆ เห็นเพียงข่าวที่ถูกปล่อยออกมาเป็นระยะๆเท่านั้น ส่วนตัวมิได้นิ่งนอนใจ พยายามสอบถามไปยังประธานวุฒิสภาแล้ว แต่ท่านก็ไม่ทราบเช่นกัน จึงยังไม่มีรายละเอียด

“การเข้ามาดำรงตำแหน่ง ประธานกสทช.ในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ถือว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติโดยวุฒิสภาอย่างถูกต้อง ก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ”

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่ถูกกล่าวหา ว่าตนเองรับตำแหน่งกรรมการ ธนาคารกรุงเทพด้วยนั้น ยืนยันว่า ไม่เคยทำหน้าที่กรรมการธนาคารกรุงเทพ ตามที่ข่าวกล่าวอ้าง พร้อมทั้งยังมีหนังสือยืนยันธนาคารกรุงเทพอีกด้วย 

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์


ส่วนประเด็นที่กล่าวหาว่า ยังรับงานตรวจรักษาคนไข้ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีนั้น ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าวว่า หลังเข้ารับตำแหน่ง ประธานกสทช. แล้ว ก็ไม่ได้ทำหน้าที่แพทย์รักษาคนไข้อีก ยกเว้นมีเหตุด่วน หรือ ความจำเป็นที่ต้องรักษาชีวิต หรือให้คำปรึกษาบ้างเป็นครั้งคราว แต่ทั้งหมดทำโดยยึดหลักมนุษยธรรมและจรรยาบรรณ มิได้รับค่าตอบแทนแต่ประการใด

“ความเป็นแพทย์ ผมคิดว่าไม่ได้ขัดต่อคุณสมบัติหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ กับกิจการโทรคมนาคมอยู่แล้ว อีกทั้งคำนำหน้าชื่อของผมก็เป็น ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ ดังนั้น จึงไม่เข้าใจว่า กรรมาธิการไอซีที มีอำนาจหน้าที่ใด หรือจะทำเกินกว่าสิ่งที่ประธานวุฒิสภาได้ตรวจสอบคุณสมบัติแล้วหรือไม่”

ประธาน กสทช. ยังกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ได้ถูกเอกชนฟ้องร้องและเป็นจำเลยในคดีมาตรา 157 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนั้น ขณะนี้ได้รับทราบตามเอกสารที่บริษัทแจ้งมาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา จึงอยากให้ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ได้ปฎิบัติหน้าที่ของตนเองตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด