ความท้าทายและปัญหาที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เป็นจุดที่ทำให้องค์กรต่างๆ ควรหันมาให้ความสำคัญกับการมีแนวทาง การใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Technology)
ดร. รีเบคกา พาร์สันส์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท Thoughtworks บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลก มองว่า ในขณะนี้ถึงเวลาที่องค์กรธุรกิจต่างๆ ควรเริ่มให้ความสำคัญกับแนวทางการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะด้าน Generative AI เนื่องจากการขาดแนวทางใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบส่งผลให้เกิดปัญหาที่น่ากังวลมากขึ้น เช่น กรณีการละเมิดข้อมูลจากการใช้โมเดล Gen AI รวมถึงอคติหรือการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นมาจากข้อมูลที่นำไปใช้เทรนโมเดล ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นขององค์กรในสายตานักลงทุน ความไว้วางใจจากลูกค้า และความน่าเชื่อถือที่พนักงานมีต่อองค์กร โดยหากรากฐานทั้งสามด้านนี้สั่นคลอนจะเสี่ยงส่งผลต่อการเติบโตในระยะยาวของธุรกิจ
นอกจากนี้ ESG ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เป็นอีกแรงผลักดันสำคัญให้องค์กรธุรกิจควรเริ่มพิจารณาแนวทางการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์ต่อเรื่อง ESG ในหลายแง่มุม เช่น ในมุมสิ่งแวดล้อมที่การเทรนและการใช้งานโมเดล AI จำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาล หรือในมุมสังคมและธรรมาภิบาลที่การใช้เทคโนโลยีอาจมีผลต่อเรื่องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย ความเสี่ยงละเมิดสิทธิบางอย่าง รวมไปถึงอคติที่อาจเกิดขึ้นจากผลลัพธ์ของข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น องค์กรธุรกิจจึงควรพิจารณาผลกระทบในหลายๆ แง่มุมก่อนนำเทคโนโลยีไปปรับใช้จริง
แม้การใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่การผลักดันการสร้างแนวทางด้าน Responsible Tech ไม่ใช่เรื่องง่าย โดย ดร. รีเบคกา พาร์สันส์ มองว่า ความท้าทายใหญ่ที่สุดของหลายองค์กรคือการขาดความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจ ในทั้งในแง่ของเป้าหมายของการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ กระบวนการและแนวทางปฏิบัติ ไปจนถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องเอื้อต่อการดำเนินการและการพัฒนาแนวทางด้าน Responsible Tech ในระยะยาว
ก่อนหน้านี้ ในรายงานผลการสำรวจผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับ Responsible Tech (The state of responsible technology) ที่ MIT Technology Review Insights จัดทำร่วมกับ Thoughtworks ระบุว่า จากการสำรวจผู้บริหารทั่วโลกนั้น อุปสรรคที่ทำให้องค์กรยังไม่สามารถสร้างแนวทางด้าน Responsible Tech ได้ ประกอบด้วยสาเหตุหลักๆ ได้แก่
รายงานวิจัยระบุว่า หากต้องการเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ จำเป็นต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรไปทีละขั้น ทั้งในแง่การฝึกอบรมเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ควบคู่ไปกับโอกาสและความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นในการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน แล้วจึงต่อยอดสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ
ในมุมมองของ ดร. รีเบคกา พาร์สันส์ หากกล่าวในภาพรวมแล้ว ข้อดีของการมีแนวทางด้าน Responsible Tech เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นที่พนักงาน ลูกค้า และนักลงทุนมีต่อองค์กร ขณะที่เมื่อมองในภาพย่อยลงมา แนวทางด้าน Responsible Tech คือการวางกรอบการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีในอนาคต เช่น กรณีของ Generative AI ที่มีประเด็นเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญหาหรือความเป็นส่วนตัว จากการใช้ข้อมูลไปเทรนโมเดล รวมถึงประเด็นการเลือกปฏิบัติจากการที่โมเดลสร้างผลลัพธ์จากข้อมูลที่มีความบิดเบือนหรือมีอคติ เป็นต้น
สำหรับแนวทางการสร้าง Responsible Tech อาจมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะองค์กรและลักษณะของภาคอุตสาหกรรม แต่จุดร่วมสู่การใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบคือการต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย ความเปิดกว้าง และความยั่งยืน โดยแนวทางเบื้องต้นนั้น องค์กรสามารถเริ่มจากการศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบการดำเนินงานในปัจจุบันของธุรกิจ จากนั้นวางเป้าหมายและกระบวนการด้าน Responsible Tech ร่วมกัน และจัดเวิร์กช็อปเพื่อพิจารณาว่าจะนำแนวทางดังกล่าวไปใช้งานจริงในกระบวนการต่างๆ ขององค์กรหรือการทำโปรเจ็กต์พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง
สำหรับแนวโน้มเรื่องการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบนั้น ในรายงาน The state of responsible technology ได้ระบุว่า 4 ด้านหลักที่ผู้บริหารทั่วโลกให้ความสำคัญ ได้แก่
1) การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Minimizing environmental footprint)
จุดมุ่งหมายของการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบคือการบรรลุเป้าหมายด้าน ESG โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรจำนวนไม่น้อยต่างตั้งเป้าจะลด Carbon Footprint ซึ่งเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ให้ลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการดำเนินงาน เช่น การสร้างโมเดลคำนวณแนวทางลด Carbon Footprint ให้น้อยลงที่สุดโดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการดำเนินงาน หรือการโยกย้ายกระบวนการทำงานไปอยู่บนระบบคลาวด์ ที่สามารถปรับลดการใช้งานได้ตามความต้องการ เพื่อลดการใช้พลังงาน เป็นต้น
2) การขจัดอคติในเทคโนโลยีที่อิงตามอัลกอริทึ่ม (Eliminating biases in algorithm-based technologies)
ประเด็นเรื่องผลลัพธ์ที่สร้างอคติหรือมีความบิดเบือนจากการใช้อัลกอริทึ่มสร้างขึ้นมา เช่น โมเดล AI ที่สร้างผลลัพธ์จากข้อมูลที่นำไปใช้เทรน เป็นประเด็นที่องค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผลลัพธ์ที่มีอคติเสี่ยงนำไปสู่การเลือกปฏิบัติในวงกว้างในหลายภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรบุคคล ธุรกิจการเงิน หรือธุรกิจประกัน เช่น การเลือกนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ หรือความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆ
3) การปกป้องข้อมูลสำคัญขององค์กรและความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค (Protecting sensitive company data and improving digital privacy for customers)
ท่ามกลางความเสี่ยงเรื่องการละเมิดข้อมูล (Data Breach) ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จุดมุ่งหมายหนึ่งของการใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีความรับผิดชอบคือขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ ควบคู่กับการป้องกันความเสี่ยงจากกรณีข้อมูลรั่วไหลหรือการใช้ข้อมูลในทางที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้บริโภคถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน โดยธุรกิจต้องมีความโปร่งใสในการเก็บข้อมูลและการนำข้อมูลต่างๆ ของผู้บริโภคไปใช้งาน
4) การสร้างความหลากหลายด้านบุคลากร (Diversifying the tech workforce)
แนวทางการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบไม่ได้มุ่งเน้นแค่การเรื่องกระบวนการพัฒนาและนำไปใช้เท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องคน ที่จะเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ ด้วยเช่นกัน รายงานระบุว่า องค์กรที่ประกอบด้วยบุคลากรหลากหลายแบบ (Diversity) จะเป็นผลดีต่อการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบในอนาคต ทั้งในมุมคิดด้านการพัฒนาและการนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับกลุ่มคนแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน
ในยุคที่เทคโนโลยีหลอมรวมเข้ากับการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีจึงควรพิจารณาจากหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นในมุมของธุรกิจ ผู้บริโภค และผลกระทบต่อสังคม เพื่อลดความเสี่ยงและผลลัพธ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การมีแนวทางด้าน Responsible Technology จึงเป็นประเด็นที่องค์กรธุรกิจไม่ควรละเลย