ซีอีโอ OpenAI เผย 3 สาขาอาชีพที่จะได้ประโยชน์จาก ChatGPT มากที่สุด

22 ม.ค. 2567 | 14:34 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2567 | 14:47 น.
4.8 k

ยังคงเป็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบของ AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีต่ออาชีพต่างๆ กระนั้นก็ตาม มี 3 สาขาอาชีพที่ “แซม อัลท์แมน” ซีอีโอของโอเพ่นเอไอ เจ้าของผลงานแชทบอทอัจฉริยะ ChatGPT ฟันธงว่า นี่คือ สาขาอาชีพที่จะได้รับประโยชน์เต็มๆ จากแอปฯ AI ยอดฮิตนี้

 

ในทรรศนะของ แซม อัลท์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท โอเพ่นเอไอ (OpenAI) ผู้พัฒนาแชทบ็อทอัจฉริยะ “ChatGPT” ที่ทรงประสิทธิภาพ ถามอะไรตอบได้ ให้ทำงานแทนมนุษย์ก็ได้หลากหลาย ประการ เช่นการสร้างข้อความ ภาพ หรือวิดีโอ จากข้อมูลที่มันได้เรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านระบบ Machine Learning ว่า มีอยู่ 3 สาขาอาชีพ ที่เขาเห็นว่า จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากความก้าวหน้าของ ChatGPT ที่จนถึงขณะนี้ พัฒนามาถึง GPT4 หรือเวอร์ชัน 4.0 ที่เป็นเวอร์ชันล่าสุด

1.โปรแกรมเมอร์

อัลท์แมนกล่าวในรายการ Unconfused Me ซึ่งเป็นรายการประเภทพอดแคสต์ จัดโดยพิธีกรคนดังระดับมหาเศรษฐีโลกอย่างนายบิล เกตส์ ว่า อาชีพโปรแกรมเมอร์จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้งาน ChatGPT ที่สามารถช่วยงานเขียนโค้ด (Coding) เขียนโปรแกรมที่ยุ่งยากซับซ้อนจากที่เคยต้องเขียนเป็นชั่วโมงๆ ลดลงมาเหลือเพียงไม่กี่นาที หรือพูดง่ายๆ คือ อัลท์แมนกล่าวว่า บรรดาโปรแกรมเมอร์จะสามารถใช้ ChatGPT ทำงานได้เร็วขึ้นถึงสามเท่า นอกจากช่วยเขียนโค้ดแล้ว มันยังสามารถช่วยตรวจทานหาจุดบกพร่องหรือจุดที่ควรต้องแก้ไขในงานเขียนรหัสที่ทำเสร็จแล้ว สามารถเขียนชุดทดสอบ รวมทั้งตอบคำถามข้อข้องใจต่างๆของโปรแกรมเมอร์

แซม อัลท์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท โอเพ่นเอไอ (OpenAI)

แม้มันจะไม่สามารถเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ แต่มันสามารถ “ช่วย” (assist) ให้โปรแกรมเมอร์ทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และเร็วขึ้น ทั้งนี้ GPT4 ซึ่งเป็นเวอร์ชันใหม่ล่าสุด เปิดตัวปลายปีที่แล้ว ช่วยทำงานได้ดีและได้เร็วขึ้น แม้ว่าโปรแกรมเมอร์ยังคงต้องตรวจสอบผลงานของแชทบอทอีกทีก็ตามเพื่อความรอบคอบ

“การที่โปรแกรมเมอร์ทำงานเสร็จได้เร็วขึ้น ก็หมายความว่าพวกเขาจะมีเวลามากขึ้นสำหรับงานสร้างสรรค์ด้านอื่นๆ”   

2. วิชาชีพด้านการศึกษา

ปัจจุบันนี้ AI สามารถช่วยงานครูผู้สอนในการเขียนแผนการสอน ออกแบบหลักสูตรการศึกษา หรือแม้กระทั่งเขียนแผนการเรียนการสอนตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนหรือนักศึกษารายบุคคล นอกจากนี้ ยังช่วยประหยัดเวลาให้บรรดาคุณครูเกี่ยวกับงานด้านบริหารจัดการหลายอย่างในห้องเรียน เช่น การติดตามตรวจสอบประวัติการเข้าเรียนของนักเรียนแต่ละคน หรือส่งข้อความเตือนความจำถึงนักเรียน/นักศึกษาเกี่ยวกับการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมาย

นอกจากนี้ AI อย่าง ChatGPT ยังอาจเป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยการเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับทรรศนะของนายบิล เกตส์ที่มองว่า ChatGPT สามารถช่วยงานมนุษย์ในฐานะครูผู้ช่วย หรือครูพิเศษ (ติวเตอร์) ด้านใดด้านหนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ขาดแคลนบุคลากรครู ในปีที่แล้ว เกตส์คาดการณ์ว่า AI จะเข้ามาช่วยงานทำให้นักเรียนสามารถอ่านออก-เขียนได้ ได้เร็วขึ้น ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลในหมู่นักการศึกษาที่ว่า ChatGPT อาจถูกนำมาใช้ในทางผิดๆ เช่น ใช้โกงข้อสอบหรือการบ้านที่ได้รับมอบหมาย แม้ในขณะนี้ ยังไม่มีงานวิจัยที่พบว่า มีการโกงข้อสอบมากขึ้นหลังมีการนำ ChatGPT มาใช้ แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิจัยเตือนมาก็คือ AI ยังสามารถตอบผิดพลาดได้ ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองรวมทั้งคุณครูที่สนับสนุนการใช้ ChatGPT ในการเรียนการสอน ต้องกำชับนักเรียน/นักศึกษาเสมอว่า อย่าเชื่อใจหรือพึ่งพา AI มากจนเกินไป อย่างน้อยต้องมีการตรวจทานผลงานของ AI ด้วย ว่าถูกต้องสมบูรณ์หรือไม่

ยังคงมีความกังวลในหมู่นักการศึกษาที่ว่า ChatGPT อาจถูกนำมาใช้ในทางผิดๆ เช่น ใช้โกงข้อสอบหรือการบ้านที่ได้รับมอบหมาย

3. สาขาการแพทย์และสาธารณสุข

นี่เป็นสาขาอาชีพที่สาม ที่อัลท์แมนมองว่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการนำ ChatGPT มาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการทดสอบนำข้อสอบสำหรับผู้ต้องการใบรับรองประกอบวิชาชีพแพทย์ (U.S. Medical Licensing Exam) ในสหรัฐมาให้ ChatGPT ทำ และมันสามารถสอบผ่านมาได้ แต่กระนั้นก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า แชทบอทยอดนิยมนี้จะสามารถเข้ามาทำงานแทนที่หมอ เพราะมันยังสามารถทำข้อผิดพลาด แต่ชีวิตของผู้ป่วยนั้น ไม่เปิดช่องให้สำหรับความผิดพลาด ดังนั้น มันสามารถทำ “หน้าที่ผู้ช่วย” ให้คุณหมอสามารถลดเวลาหรือประหยัดเวลาในการทำภารกิจบางอย่าง เช่นงานด้านเอกสารที่ต้องใช้เวลามาก หรืองานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประกันสุขภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ ChatGPT ยังเป็นประโยชน์ในการช่วยงานวิเคราะห์วิจัยและสรุปประวัติการรักษาของผู้ป่วย ส่วนงานบริการที่ระบบ AI ถนัดที่สุด คือการตอบคำถามที่ผู้ป่วยหรือผู้คนที่ไม่สบาย มักถามบ่อยๆ

นอกจากช่วยงานบุคลากรทางการแพทย์แล้ว บริษัทผู้ผลิตยาบางรายยังนำ AI อย่าง ChatGPT มาใช้ในการพัฒนาตัวยาใหม่ๆอีกด้วย

งานบริการที่ระบบ AI อย่าง ChatGPT ถนัดที่สุด คือการตอบคำถามที่ผู้ป่วยหรือผู้คนที่ไม่สบาย มักถามบ่อยๆ

นอกจากนี้ มูลนิธิที่ต้องทำงานด้านสุขภาพประชาชนอย่างเช่น มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ของมหาเศรษฐีบิล เกตส์ ยังยอมรับว่า ทางมูลนิธินำ AI มาใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขในประเทศยากจน ซึ่งรวมถึงปัญหาเกี่ยวกับโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย

“ผมคิดว่าในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า เราจะได้เห็นกราฟการนำ AI มาใช้ประโยชน์ที่พุ่งขึ้นอย่างมาก สิ่งที่เห็นขณะนี้เป็นเพียงขั้นเริ่มต้นเท่านั้น” อัลท์แมนกล่าวและว่า AI ในอนาคตจะฉลาดและอัจฉริยะมากกว่านี้อีกหลายเท่า เพราะสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบัน ถือเป็นเวอร์ชันที่ “โง่ที่สุด” ของปัญญาประดิษฐ์เท่านั้น