รู้ทัน Deepfake ป้องกัน โดน AI หลอกเนียน

19 ม.ค. 2567 | 12:58 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2567 | 13:05 น.

ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 ETDA แนะวิธีสังเกตมิจฉาชีพใช้เทคโนโลยี Deepfake หลอกลวง ทำให้ภาพ เสียง คลิปวิดีโอ

ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 ETDA สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แจ้งว่าปัจจุบันมิจฉาชีพมีความพัฒนาก้าวหน้า ทันโลกมากขึ้น ล่าสุดมีการใช้เทคโนโลยี Deepfake ให้กลายมาเป็นเครื่องมือหลอกลวง ทำให้ภาพ เสียง คลิปวิดีโอ  ของบุคคลหนึ่งสามารถขยับปากตามเสียงของบุคคลอื่นได้ มีความเสมือนจริงทั้งใบหน้าและน้ำเสียง

รู้ทัน Deepfake ป้องกัน โดน AI หลอกเนียน

มิจฉาชีพได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ หลอกลวงให้โอนเงิน , สร้างโพสต์ปลอม , ข้อความปลอม , ความคิดเห็นปลอม และสร้างโปรไฟล์ปลอม บนสื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็น Fake News ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด

ซึ่งวิธีสังเกต “เสียง AI” มีดังนี้

1. จังหวะการเว้นวรรคคำพูด : เสียงพูดจาก AI จะไม่มีอารมณ์หรือความรู้สึก เสียงจึงจะไม่มีจังหวะหยุด ไม่มีเว้นวรรคจังหวะหายใจ และจะพูดประโยคยาว

2. น้ำเสียงราบเรียบ : เสียงจาก AI ที่มิจฉาชีพใช้จะมีเสียงที่ราบเรียบ ไม่มีการเน้นน้ำหนักเสียง หรือความสำคัญของคำ

3. คำทับศัพท์ : เสียงจาก AI จะพูดคำศัพท์เฉพาะไม่ค่อยชัด คำบางคำเวลาออกเสียง จะมีความผิดเพี้ยนไปบ้าง เนื่องจาก AI อาจยังไม่สามารถออกเสียงวรรณยุกต์ เสียงสูง-ต่ำ ได้ในบางคำ

 

วิธีสังเกต “ใบหน้า” จาก AI มีดังนี้

1. สังเกตการขยับริมฝีปาก : หากเป็นคลิปสร้างจาก AI การขยับปากของคนในคลิปจะไม่สอดคล้องกับเสียงในวิดีโอ และดูไม่เป็นธรรมชาติ

2. ใบหน้า : มีลักษณะที่ผิดสัดส่วนธรรมชาติ โดยเฉพาะเมื่อก้มเงยหน้าหรือหันซ้ายหันขวา

3. สีผิวเข้มหรืออ่อนเป็นหย่อม ๆ : แสงและเงาบริเวณผิวไม่สอดคล้องต่อการเคลื่อนไหว

4.การกะพริบตาถี่เกินไป หรือน้อยเกินไป : ดูไม่เป็นธรรมชาติ