ตัวแทนของรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศ มหาเศรษฐี ผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และคณะสื่อมวลชน มุ่งหน้าไปยัง เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง เพื่อเข้าร่วม การประชุมประจำปีครั้งที่ 54 สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) ซึ่งเริ่มในวันที่ 15 มกราคม โดยมีเป้าหมายเพื่อหารือเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของความไว้วางใจ ได้แก่ ความโปร่งใส การเชื่อมโยงกัน และความรับผิดชอบ ภายใต้ธีม การสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นมาใหม่
ก่อนหน้าที่จะเริ่มการประชุม รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2024 หรือ Global Risks Report 2024 ที่จัดทำโดย World Economic Forum (WEF) ระบุว่า AI จะสร้างผลกระทบและความเสี่ยงให้แก่โลกมากที่สุดในปีนี้ ท่ามกลางการเลือกตั้งในหลายประเทศ โดยชี้ว่าอาจนำมาสู่การสร้างข้อมูลเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริงผลการเลือกตั้งได้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงใหม่อันดับเเรกในระยะสั้นหรือภายในระยะ 2 ปีข้างหน้า
ทั่วโลกต่างจับตาทั้งคุณเเละโทษของ AI เนื่องจากความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ทำให้โลกเกิดทั้งความตื่นเต้นและความตื่นตระหนก ก่อให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับ "เศรษฐกิจโลก" แต่เเน่นอนว่าผลกระทบสุทธิเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ได้ สิ่งที่สามารถทำได้คือ การกำหนดนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ AI ได้อย่างปลอดภัยเพื่อประโยชน์ของมนุษย์
การปฏิวัติเทคโนโลยีที่สามารถเร่งประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมการเติบโตทั่วโลก และเพิ่มรายได้ทั่วโลก แต่ยังสามารถเข้ามาแทนที่งานและเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันได้เช่นกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุในรายงานการวิเคราะห์ฉบับใหม่ Gen-AI : Artificial Intelligence and the Future of Work ว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีแนวโน้มกระทบต่อตำแหน่งงานทั่วโลกเกือบ 40% ขณะที่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาเเล้วมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อสัดส่วนของตำแหน่งงานมากเป็นพิเศษที่ประมาณ 60%
ในรายงานระบุว่า พนักงานครึ่งหนึ่งจะได้รับประโยชน์จากการใช้ AI เนื่องจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่พนักงานอีกครึ่งหนึ่งจะถูก AI เข้ามาแย่งงาน อาจลดความต้องการแรงงาน ส่งผลให้ค่าจ้างลดลง และลดการจ้างงาน ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด งานเหล่านี้บางส่วนอาจหายไป เนื่องจาก AI มีศักยภาพในการปฏิบัติงานสำคัญที่ปัจจุบันดำเนินงานโดยมนุษย์
IMF ยังคาดการณ์ว่า เทคโนโลยี AI จะกระทบต่อตำแหน่งงานในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำเพียง 26% เนื่องจากประเทศรายได้ต่ำจำนวนมากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานหรือแรงงานที่มีทักษะในการใช้ประโยชน์จาก AI ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
AI ยังอาจส่งผลกระทบต่อความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้และความมั่งคั่งภายในประเทศอีกด้วย ผลกระทบต่อรายได้แรงงานส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับขอบเขตที่ AI โดยรวมแล้วแรงงานอาจเห็นความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างเพิ่มมากขึ้นหลังมีการใช้ AI แรงงานรายได้ต่ำและแรงงานสูงอายุอาจไล่ตามไม่ทัน
โดยข้อเสนอของรายงานระบุว่า แต่ละประเทศมีความจำเป็นต้องสร้างโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่ครอบคลุมและเสนอโปรแกรมการฝึกฝนสำหรับแรงงานเปราะบาง เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ AI ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงปกป้องความเป็นอยู่ประชาชนและควบคุมความเหลื่อมล้ำ
IMF ใช้ดัชนีประเมินความพร้อมของ 125 ประเทศ ผลการวิจัยเผยให้เห็นว่าประเทศที่ร่ำรวยกว่า ซึ่งรวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศ มีแนวโน้มความพร้อมสำหรับการนำ AI มาใช้มากกว่าประเทศที่มีรายได้น้อย แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละประเทศก็ตาม สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเดนมาร์ก มีคะแนนสูงสุดในดัชนี โดยพิจารณาจากผลลัพธ์ที่แข็งแกร่งในทั้งสี่หมวดหมู่ที่ติดตาม