‘การีนา’มุ่งสู่อินเตอร์เน็ตคัมปะนี เร่งเครื่องปั้นธุรกิจอี-เพย์เมนต์/อี-คอมเมิร์ซ รับนโยบายรัฐหนุน

07 มิ.ย. 2559 | 12:00 น.
755
การีนาออนไลน์ ปรับยุทธศาสตร์จากผู้ให้บริการเกมออนไลน์บนพีซี และโมบาย สู่อินเตอร์เน็ตคัมปะนี เร่งปั้นธุรกิจ"ฟินเทค"แอร์เพย์"-ซีทูซี อี-คอมเมิร์ซ "ช็อปปี้" รับนโยบายรัฐหนุน

[caption id="attachment_59757" align="aligncenter" width="358"] มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย)[/caption]

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจจากผู้ให้บริการเกมออนไลน์ทั้งบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) และอุปกรณ์โมบาย สู่อินเตอร์เน็ต คัมปะนี ที่ให้บริการแพลตฟอร์มการสื่อสารและความบันเทิงที่เชื่อมต่อโลกสังคมออนไลน์ รวมทั้งการจัดการด้านการเงินและธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ภายใต้พันธกิจ “Connecting the dots” สู่ความเป็นผู้นำการให้บริการอินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์ม ที่มีศักยภาพครอบคลุมพร้อมตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ในยุคดิจิตอล

ทั้งนี้ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1.ดิจิตอลคอนเทนต์ (Digital Content) หรือการให้บริการเกมทั้งบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และอุปกรณ์โมบาย โดยกลยุทธ์ปีนี้ยังคงมุ่งรักษาความเป็นผู้นำตลาดเอาไว้และตั้งเป้าเติบโตปีนี้ 30% ซึ่งกลยุทธ์สำคัญคือ การนำเกมใหม่เข้ามาให้บริการต่อเนื่อง จากปัจจุบันให้บริการเกมที่มีชื่อเสียงไม่ว่าจะเป็น Point Blank, League of Legends, FIFA Online3 โดยมีผู้ลงทะเบียนในกลุ่มพีซีเกมอยู่ที่ 27 ล้านยูสเซอร์ และมีผู้ลงทะเบียนเล่นเกมบนโมบายอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านยูสเซอร์

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาการให้บริการโปรแกรมความบันเทิงอย่าง TalkTalk ซึ่งทำให้กลุ่มผู้ใช้สามารถรับชมดีเจเน็ตไอดอลแสดงความสามารถ และสื่อสารโต้ตอบระหว่างผู้ชมกับดีเจได้พร้อมกันแบบเรียลไทม์ ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนใช้งาน TalkTalk กว่า 10 ล้านคน ขณะเดียวกันจะมุ่งสนับสนุนการจัดแข่งขันเกม หรือ อี-สปอร์ต ต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาศักยภาพของผู้เล่นเกม ด้วยการจัดการแข่งขัน และส่งเสริมผู้เล่นเกมให้ก้าวเข้าสู่เวทีการแข่งขันอี-สปอร์ตทั้งในไทยและก้าวสู่เวทีแข่งขันระดับโลกต่อไป

กลุ่มธุรกิจที่ 2 คือกลุ่มระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เพย์เมนต์ ภายใต้ชื่อบริการ แอร์ เพย์ (AirPay) ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่ปีนี้จะมุ่งให้ความสำคัญ โดยมองว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายผลักดันระบบอี-เพย์เมนต์ ซึ่งทิศทางของบริษัทคือการมุ่งพัฒนาแอร์ เพย์ ให้รองรับการทำธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร โดยจะต่อยอดร่วมมือกับพันธมิตรในการให้บริการชำระค่าตั๋วรถโดยสาร และตั๋วเครื่องบิน จากเดิมรองรับการให้บริการชำระค่าบริการเกม ค่าบริการมือถือ ค่าบริการสาธารณูปโภค และตั๋วหนัง โดยมีจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บริการ 8.1 แสนราย และมีจำนวนผู้ใช้บริการทำธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ ประมาณเดือนละ 2 แสนธุรกรรม นอกจากนี้ยังมุ่งขยายจุดให้บริการเติมเงิน ไปยังร้านค้าชุมชน และร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่เพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนจุดภายในปีนี้ จากปัจจุบันมีอยู่ 6 หมื่นจุด

สุดท้าย คือบริการซื้อขายสินค้าออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชันมือถือ "Shopee" ซึ่งเป็นรูปแบบอี-คอมเมิร์ซแบบ ผู้ซื้อต่อผู้ซื้อ หรือ ซีทูซี อี-คอมเมิร์ซ โดยเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ล่าสุดที่บริษัทมุ่งให้ความสำคัญ เนื่องจากมีแนวโน้มการเติบโตสูง ซึ่งขณะนี้อี-คอมเมิร์ซในไทยมีสัดส่วน 1% ของธุรกิจค้าปลีก คาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 7-8% โดยกลยุทธ์หลักที่สำคัญในการผลักดันธุรกิจดังกล่าวคือ การอบรมผู้ขาย หรือ ร้านค้าให้สามารถขายสินค้าได้มากขึ้นผ่าน Shopee University ขณะเดียวกันจะมีการกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นการใช้งานและขยายกลุ่มผู้ใช้บริการอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการจัดพื้นที่ให้ร้านค้าต่างๆ มาออกบูธ เพื่อให้ผู้ซื้อได้พบปะทำความรู้จักกับผู้ขาย

Photo : garena
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559