ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในตลาดอี-คอมเมิร์ซยังคงมีต่อเนื่อง ท่ามกลางการเติบโตของตลาด และการเร่งทำกำไรของผู้ประกอบการ ล่าสุดเปิดศักราชใหม่ของปีมา ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ “ลาซาด้า” ผู้ให้บริการอี-มาร์เก็ตเพลส รายสำคัญของภูมิภาค ที่มียักษ์อีคอมเมิร์ซโลกอย่างอาลีบาบา เป็นแบ็คอัพ “ลาซาด้า” เตรียมปลดพนักงานทั่วภูมิภาคราว 30% จากพนักงานทั้งหมดราวหมื่นคน จนทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับลาซาด้า ที่เป็นผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสที่สามารถสร้างกำไรได้เป็นรายแรก
“ฐานเศรษฐกิจ”ได้พยายามติดต่อสอบถามกรณีดังกล่าวไปยัง บริษัทลาซาด้า (ประเทศไทย) จำกัด แต่ไม่มีคำตอบในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการลดคนของลาซาด้าครั้งนี้ ตั้งแต่ลดกำลังคนประมาณ 30% ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์) จากพนักงานมากกว่า 10,000 คน, การปลดประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด( Chief Marketing Officer) ทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออก, ปลดซีอีโอ และ CLO (Chief Logistics Officer) ลาซาด้า มาเลเซีย และลดพนักงานในมาเลเซียลง 20% และปิด LazMall ในเวียดนาม
ขณะที่ โฆษกของลาซาด้า สิงคโปร์ ระบุในเบื้องต้นว่า บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเชิงรุกเพื่อวางตำแหน่งของตัวเองให้ดีขึ้น ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น รวมถึงปรับวิธีการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจในอนาคต จึงจำเป็นต้องประเมินข้อกำหนดด้านบุคลากรและโครงสร้างการทำงานอีกครั้ง ทั้งนี้ ลาซาด้ากำลังเผชิญการแข่งขันอย่างหนักกับ “ช้อปปี้” และ “ติ๊กต็อก” ซึ่งรายหลังเริ่มบุกธุรกิจโซเชียลคอมเมิร์ซ มากขึ้น
ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท TARAD.COM จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการเตรียมปลดพนักงานของลาซาด้าทั่วทั้งภูมิภาคครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าการแข่งขันธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีความรุนแรงขึ้น ลาซาด้า ต้องการลดขนาดองค์กร ที่มีขนาดใหญ่ลงมา เพื่อความคล่องตัวในการแข่งขัน และลาซาด้าต้องการลดต้นทุน เพื่อสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้น โดยหากพิจารณาผลประกอบของยักษ์อีมาร์เก็ตเพลส ทั้ง 2 ราย พบว่า ลาซาด้า มีรายได้ปี 2565 อยู่ที่ 20,675 ล้านบาท มีกำไรกว่า 413 ล้านบาท ส่วนช้อปปี้ มีรายได้ในปี 2565 ประมาณ 21,709 ล้านบาท สร้างกำไรได้ถึง 2,380 ล้านบาท
“ความเป็นผู้นำตลาดอีคอมเมิร์ซ ของอาลีบาบานั้นเริ่มลดลง โดยจิตวิญญาณขององค์กรหายไป หลังจาก “แจ็ค หม่า” ถูกสกัดจากรัฐบาลจีนทำให้ธุรกิจอาลีบาบาเริ่มถดถอยไม่มีการพัฒนาอะไรใหม่ๆ ออกมา และไม่มีโฟกัสธุรกิจชัดเจน ดังนั้นการลดคน และปรับโครงสร้างองค์กร การปรับทัพใหม่ของ Lazada เป็นสัญญาน ของการเตรียมสู้กลับ กับอีคอมเมิร์ซรายอื่นในท้องถิ่น ทั้งช้อปปี้ ติ๊กต็อก และรายอื่นๆที่กำลังเข้ามา เช่น Temu โดยมองว่าการปรับตัวครั้งนี้ของลาซาด้าน่าใช้เวลาประมาณ 1-2 ไตรมาส และกลับเข้าสู่อัตราเร่งที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นได้”
นายภาวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า“ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาลาซาด้า ค่อนข้างพัฒนาช้ากว่าคู่แข่ง ช้อปปิ้สร้างรายได้จาก Shopee Live มาประสบความสำเร็จ มีผู้ติดตามมหาศาล ส่วนลาซาด้า ไม่เน้นบริการ LIVE จุดแข็งที่มีอยู่ของลาซาด้า ที่มีอยู่ตอนนี้ คือ สินค้าที่สั่งตรงจากผู้ขายในจีน ที่มีราคาถูก
โดยการปรับตัวของลาซาด้าครั้งนี้นอกจากลดคนแล้ว ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสบการณ์การช้อปปิ้งใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เช่น Live Commerce ขณะเดียวกันยังต้องเร่งการบรูณาการบริการกับบริษัทในกลุ่มอาลีบาบา ที่ถือว่ามีความได้เปรียบคู่แข่งทุกราย ทั้งอีคอมเมิร์ซ แบบ B2B, B2C, C2C รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ทั้งคลาวด์ แพลตฟอร์ม, ระบบชำระเงิน (Payment) และระบบขนส่ง (Logistic)