ลาซาด้า (Lazada) บริษัท ในเครืออาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีน ได้เริ่มทำการ ปลดพนักงาน ประเดิมศักราชใหม่กลางสัปดาห์นี้ (3 ม.ค.) โดยพนักงานที่ถูกปลดออกในรอบนี้ มีจำนวนหลายร้อยคน ซึ่งรวมถึงพนักงานในทุกระดับ และทุกตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสำนักงานประจำภูมิภาคและมีพนักงานราว 10,000 คน จะได้รับผลกระทบมากที่สุด
สำนักข่าว CNBC รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวระบุว่า การปลดพนักงานได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันพุธ (3 ม.ค.) และจะดำเนินไปตลอดสัปดาห์นี้
ลาซาด้า ซึ่งมีการดำเนินกิจการใน 6 ประเทศอาเซียน คือ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องปลดพนักงาน แต่บริษัทปฏิเสธที่จะเปิดเผยจำนวนสุทธิของพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างในรอบนี้ ทั้งในสิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่บริษัทได้ทำการปลดพนักงานครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ในเดือนต.ค.2566
"เรากำลังปรับเปลี่ยนองค์กรในเชิงรุกเพื่อปรับจำนวนพนักงานของเรา และเพื่อให้บริษัทมีความพร้อมมากขึ้นสำหรับแนวทางการทำงานที่คล่องตัว เพื่อรับมือกับความจำเป็นด้านธุรกิจในอนาคต” แหล่งข่าวระบุว่า การปรับเปลี่ยนดังกล่าวถือว่ามีความจำเป็น
ทั้งนี้ บริษัทได้ทำการประเมินครั้งใหม่สำหรับความต้องการด้านจำนวนพนักงานและโครงสร้างการดำเนินการ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าลาซาด้าจะอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้น ทั้งสำหรับธุรกิจและประโยชน์ของพนักงานในอนาคต
ลาซาด้า ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีนมาตั้งแต่ปี 2559 ได้เริ่มปลดพนักงานในสัปดาห์แรกของศักราชใหม่ 2567 ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดกับบริษัทช้อปปี้ และติ๊กต๊อก ในตลาดอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งกระแสความคาดหมายที่ว่า บริษัทกำลังจะทำ IPO ในปี 2567 ดังนั้น ลาซาด้าจึงต้องการลดพนักงานเพื่อความคล่องตัวในการบริหารงานและรองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคต
แม้ว่ากลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา อาลีบาบาซึ่งเป็นบริษัทแม่ของลาซาด้า จะประกาศลงทุนเพิ่มในลาซาด้าอีก 634 ล้านดอลลาร์ แต่คู่แข่งอย่างติ๊กต๊อก ซึ่งมีบริษัทไบท์แดนซ์เป็นเจ้าของ ก็ลงทุนหนักเพื่อสร้างโอกาสที่เหนือกว่าในการแข่งขันเช่นกัน โดยติ๊กต๊อกมีแผนจะลงทุน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการโทโคพีเดีย (Tokopedia) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย และอินโดนีเซียนั้นก็เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนทั้งในแง่ GDP และจำนวนประชากร
ด้านสำนักข่าว CNA สื่อจากสิงคโปร์ รายงานว่า พนักงานที่ถูกเลิกจ้างในสิงคโปร์บางรายถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อทราบชะตากรรมของตัวเองว่าถูกบริษัทปลดออก พวกเขาบางคนกล่าวว่า การปลดพนักงานในรอบนี้เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อน และบางรายถึงกับกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ “ไม่ยุติธรรม” และ “ไม่โปร่งใส”
นอกจากนี้ บริษัทยังจ่ายเงินชดเชยต่ำกว่าที่คาดไว้ และยังต่ำกว่าที่บริษัทคู่แข่ง เช่น ช้อปปี้ และ แกร็บ จ่ายให้แก่พนักงานเมื่อมีการเลิกจ้างในปีที่ผ่านมา (2566)
สำนักงานอุตสาหกรรมดิจิทัลของสิงคโปร์ (DIS) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลสิงคโปร์ที่สนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีในประเทศ เปิดเผยว่า DIS กำลังทำงานร่วมกับลาซาด้าและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาล เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง โดยจะเสนอโอกาสในการทำงานให้กับพนักงานเหล่านี้
ข้อมูลอ้างอิง