นายกฯเกาะติดพัฒนา‘คลาวด์-AI’ภาครัฐ สั่ง“ไมโครซอฟท์”แจ้งคืบหน้าทุก 3 เดือน

28 พ.ย. 2566 | 14:27 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2566 | 14:47 น.

ไมโครซอฟท์ เร่งสานต่อ MOU ร่วมมือรัฐบาล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล-คลาวด์ภาครัฐ นำร่อง 3 กระทรวงหลัก เตรียมตั้ง AI Excellence Center แห่งแรกขึ้นมาในไทย เผยนายกฯ เปิดรายงานคืบหน้า ปัญหา ทุก 3 เดือน ล่าสุดปล่อย Copilot for Microsoft 365 หนุนรัฐ-เอกชนก้าวสู่องค์กรยุคใหม่

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศ ไทย จำกัด เปิดเผยว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ระหว่างรัฐบาล โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กับไมโครซอฟท์ โดยไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ช่วงการประชุม เอเปค เพื่อเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการให้บริการสาธารณะภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศไทยนั้นมีกรอบความร่วมมือหลายด้าน

นายกฯเกาะติดพัฒนา‘คลาวด์-AI’ภาครัฐ สั่ง“ไมโครซอฟท์”แจ้งคืบหน้าทุก 3 เดือน

โดยหลักๆ เป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีคลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มายกระดับการดำเนินการและการให้บริการภาครัฐ ซึ่งไมโครซอฟท์จะทำงานกับภาครัฐ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Cloud First ของกระทรวงดิจิทัล โดยในเฟสแรก จะมีการดำเนินการใน 3 กระทรวงก่อน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ามีกระทรวงใดบ้าง พร้อมทั้งเรื่องการร่วมมือด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้การใช้งานออนไลน์มีความปลอดภัย

นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศแรก ที่ไมโครซอฟท์จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางเชิงกลยุทธ์ด้าน AI (AI Excellence Center) ขึ้นมา โดยศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้าน AI กับหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการนำ AI มาใช้การทดสอบ และวิเคราะห์ บริการต่างๆ ของภาครัฐ

ขณะเดียวกันยังมีการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถระบุเม็ดเงินลงทุนได้ โดยต้องมีการหารือ เรื่องเงื่อนไขการสนับสนุนต่อ ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์นั้น ไมโครซอฟท์มีสอบถามไปยังรัฐบาล เรื่องของความชัดเจนนโยบายพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ของไทย เนื่องจากไมโครซอฟท์ ตั้งเป้าหมายในปี 2025 ทุกดาต้าเซ็นเตอร์ของไมโครซอฟท์บนโลกกว่า 200 แห่ง จะใช้พลังงานหมุน เวียน 100% และในปี 2030 ไมโครซอฟท์จะต้องกลายเป็น Negative Carbon Company

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการพัฒนาทักษะดิจิทัล ทั้งการอัพสกิล รีสกิล และนิวสกิล ให้คนไทย 10 ล้านคน และ การสร้าง Sustainability Sandbox หรือพื้นที่ทดสอบสำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608

นายธนวัฒน์ กล่าวต่อไปอีกว่า ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย มีการทำงานร่วมกับกระทรวงดีอี อย่างใกล้ชิด เพื่อวางกรอบการทำงาน และรายละเอียด ในแต่ละเรื่อง และมีการรายงานต่อตรง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทุกๆ 3 เดือน ถึงความก้าวหน้าในแต่ละด้าน รวมถึงปัญหาและอุปสรรค

โดยเบื้องต้นที่มองว่าอุปสรรคสำคัญคือ เรื่องนโยบายจัดซื้อจัดจ้าง ภาครัฐ ปัจจุบันภาครัฐไม่ต้องลงทุนจัดซื้อจัดจ้างระบบไอทีเอง โดยสามารถเช่าใช้บริการได้ ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะแก้ไขกฎระเบียบให้สามารถเช่าใช้บริการได้ และสามารถเปิดให้เช่าในใช้ระยะยาว 3 ปีได้หรือไม่ ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์กล้าลงทุน

นายธนวัฒน์ กล่าวต่อไปอีกว่าไมโครซอฟท์ ได้งาน Microsoft AI Summit ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ภายใต้แนวคิด “Leading the Era of AI” เพื่อนำเสนอศักยภาพของ AI ที่มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดในระดับโลก โดยที่ผ่านมาองค์กรในไทย ทั้งภาครัฐ เอกชน ขนาดใหญ่ และเอสเอ็มอี ตื่นตัวให้ความสนใจในการนำ AI มาใช้งาน ซึ่งในงานดังกล่าวนั้นไมโครซอฟท์ ได้นำองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ อาทิ เอไอเอส ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ปตท.สผ. ที่ได้เข้าร่วมโปรแกรม Copilot for Microsoft 365 Early Access Program (EAP) เพื่อให้เห็นถึงแนวทางความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการนำ AI มาใช้พลิกโฉมการดำเนินงาน ขณะที่ Buzzebees, InnovestX และ PTT Global Chemical (GC) ก็นำบริการ Azure OpenAI Service มาสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อยอดบริการที่มีอยู่ด้วยพลังจาก AI

 “AI นับเป็นจุดเปลี่ยนทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ เราจึงมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนา AI ที่ผสมผสานเข้ากับผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของเราอย่างลงตัว มีบทบาทเป็น Copilot พร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ใช้และองค์กรธุรกิจในทุกระดับให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น มากขึ้น เร็วขึ้น และเสียงตอบรับจากองค์กรที่นำ Copilot เข้าไปใช้งานจริงก็นับเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีถึงศักยภาพและความพร้อมของ AI ทั้งใน ทั้งใน สถานที่ทำงาน โฮมออฟฟิศ สถาบันการศึกษา ห้องปฏิบัติการวิจัย และโรงงานผลิตทั่วโลก”