zero-carbon

ไมโครซอฟท์ อัด 1.4 หมื่นล้านหนุนนวัตกรรม แก้โลกเดือด

    ไมโครซอฟท์ เดินแผนความยั่งยืน ตั้งงบ Climate Innovation Fund 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรอราว 3.5 หมื่นลาน สนับสนุนนวัตกรรมแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ตั้งเป้าใช้พลังงานทดแทน 100% ปี 2025 และเป็น Negative Carbon Company ในปี ค.ศ.2030 เดินหน้าสู่ Net Zero 2050

จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การเพิ่มของอุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียส จะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อโลก คน 2.4 ล้านคน อาจต้องสูญเสียอาชีพและที่อยู่อาศัย ความยั่งยืนจึงเป็นวิสัยทัศน์ที่ไมโครซอฟท์ ให้ความสำคัญ พร้อมทั้งดูแลการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นและการปล่อยคาร์บอนในอากาศ และยังมีการลงทุนใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการใช้นวัตกรรมในการลดก๊าซคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ

ไมโครซอฟท์จัดตั้งงบประมาณ Climate Innovation Fund เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเวลานี้ยังเหลืออีก 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.4 หมื่นล้านบาท( อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ที่พร้อมสนับสนุนกับบุคคลหรือบริษัทที่สนใจ

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่ทุกคนต้องทำเวลานี้ คือ “Disrupt” การนำเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการทำธุรกิจจะต้องคำนึงถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ไมโครซอฟท์ได้ดำเนินการด้วยการทดลองทำโครงการ Northern Lights ร่วมกับของรัฐบาลนอร์เวย์ และบริษัทพลังงาน Equinor, Shell และ Total เพื่อสร้างมาตรฐานและปรับขนาดการดักจับและจัดเก็บคาร์บอนหรือ Carbon capture and storage (CCS) ทั่วยุโรป และจะใช้พลังงานสะอาดเพื่อเป็นแหล่งพลังงานใน Data centerในปี ค.ศ.2025

ไมโครซอฟท์ อัด 1.4 หมื่นล้านหนุนนวัตกรรม แก้โลกเดือด

ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ได้เดินหน้าเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustaina bility) ใน 4 เรื่องหลัก ล้อไปกับเป้าหมาย SDGs 17 ประการ (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วย

1.Carbon โดยในปี ค.ศ.2025 ทุก Data Center ของไมโครซอฟท์กว่า 200 Data Center จะทำงานด้วยพลังงานทดแทน(Renewable Energy) 100% และในปี ค.ศ.2030 ไมโครซอฟท์จะต้องเป็น Negative Carbon Company และในปี ค.ศ. 2050 จะจัดการเรื่องชดเชยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด ที่ไมโครซอฟท์ปล่อยออกมาตั้งแต่เริ่มต้นบริษัทเมื่อปี ค.ศ.1975 ให้แล้วเสร็จและกลายเป็นศูนย์

 2.Waterจะมุ่งสู่สถานะ “Water Positive” หรือคืนนํ้าสะอาดสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่าที่นำมาใช้ภายในปี ค.ศ.2030  3. Waste Management ไตั้งเป้าภายในปี ค.ศ.2030 จะมุ่งสู่ Positive ในเรื่องของ Waste และ 4.นำสิ่งที่ทำมาแล้ว ทั้งเรื่องของคาร์บอน นํ้า และขยะ ไปสร้างเป็น Ecosystem

ดังนั้น ในการทำธุรกิจกับไมโครซอฟท์ในวันนี้ หากใครที่ไม่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนใน 4 เรื่องหลักนี้ ไมโครซอฟท์ก็จะไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement List) ด้วย

อีกทั้ง ในการดำเนินธุรกิจ ไมโครซอฟท์ ยังให้ความสำคัญกับการทำ “5R” ได้แก่ Record, Report, Redue, Remove และ Replace และนำ 5R นี้มาสร้าง Productivity ให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของไมโครซอฟท์ มาตรการเหล่านี้ ถือเป็นบรรทัดฐานที่จะทำให้สามารถรู้สถานะคาร์บอนฟุตพริ้นต์ (Carbon Footprint) ขององค์กร และจะทำให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

นายธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า การทำงานด้านความยั่งยืน ไม่สามารถดำเนินการเเพียงคนเดียวได้ จำเป็นต้องทำงานร่วมกันตลอดห่วงโซ่ ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์ พาร์ทเนอร์ หรือเวนเดอร์ รวมไปถึงลูกค้า เนื่องจากไมโครซอฟท์เคยมีประสบการณ์เมื่อปี ค.ศ.2022 บริษัท สามารถลดการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินงาน รวมไปถึงพลังงานที่ใช้ (Scope 1 และ Scope 2) ได้มากถึง 22.7% แต่ทั้งหมดนี้คิดเป็นเพียง 4% ของการปล่อยก๊าซตลอดห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจของไมโครซอฟท์เท่านั้น

ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ได้กำหนด 2 แนวทาง สำหรับการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ คือ 1.การ Reinforcement หรือการวางกรอบนโยบายต่างๆ กับผู้มีส่วนร่วมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ เช่น การจะมาเป็นซัพพลายเออร์ ให้กับไมโครซอฟท์จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 55% ในปี 2030 ซึ่งหลังมีนโยบายนี้ส่งผลให้ Supplier 12 บริษัทเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนทันที และ 6 จาก 12 บริษัทในเวลานี้ก็ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เป็นทีเรียบร้อยแล้ว นั่นคือพลังของการ Reinforcement ที่จะกลายเป็นห่วงโซ่ต่อไปแบบไม่รู้จบได้

 2.Encouragement ไมโครซอฟท์นำเสนอเรื่องนี้ในฐานะบริการที่มีชื่อว่า Cloud for Sustainability ที่สามารถช่วยให้บริษัททั้งขนาดเล็ก กลางหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนสามารถ “บันทึก” และ “รายงาน” การดำเนินการสู่ความยั่งยืนใน Scope 1 และ Scope 2 ได้

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดกลยุทธ์ของไมโครซอฟท์ในระดับอาเซียน แนวทางการลงทุนจากนี้จะเน้นไปที่การยกระดับศักยภาพธุรกิจ เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลไทยที่ต้องสอดคล้องไปกับนโยบายของไมโครซอฟท์ด้วย