ขุมทรัพย์ “เศรษฐกิจอวกาศ” อาจมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2040

26 ต.ค. 2566 | 05:00 น.

มีการคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลก อาจมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2040 ขณะที่รัฐบาลไทยมีแนวทางสนับสนุนการเกิดเศรษฐกิจอวกาศใหม่ (New space economy) ยกระดับการแข่งขันของประเทศ

วันนี้ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าแบบก้าวกระโดด ทำให้การเดินทางออกสู่จักรวาลและสร้าง "เศรษฐกิจใหม่อวกาศ" อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป  มอร์แกน สแตนลีย์ บริษัทให้บริการทางการเงินระดับโลก ประมาณการว่าอุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลกมูลค่าประมาณ 350,000 ล้านดอลลาร์ อาจเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2040 ถือเป็นขุมทรัพย์เศรษฐกิจอวกาศที่เริ่มต้นหน้าประวัติศาสตร์ใหม่

ขุมทรัพย์ “เศรษฐกิจอวกาศ” อาจมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2040

ขุมทรัพย์ “เศรษฐกิจอวกาศ” อาจมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2040

ขณะที่ข้อมูลของมูลนิธิอวกาศที่ไม่แสวงหาผลกำไร ระบุว่า เศรษฐกิจอวกาศมีมูลค่า 469 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพิ่มขึ้น 9 เปอร์เซ็นต์จากปี 2020 ซึ่งเป็นการเติบโตสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2014

โจทย์ของประเทศไทยคงไม่ใช่การสร้างยานอวกาศแข่งกับมหาอำนาจ แต่เป็นการคว้าโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนของประเทศ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อย่าง "เทคโนโลยีอวกาศ"  และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

 

ล่าสุด ประเทศไทยส่ง "THEOS-2" ดาวเทียมสำรวจโลกสู่อวกาศอีกครั้งในรอบ 15 ปี ซึ่งข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะถูกนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสุนการตัดสินใจและการบริหารเชิงพื้นที่ตามภารกิจของประเทศ

ดาวเทียม THEOS-2

และยังมีการจัดงาน Thailand Space Week 2023 สัปดาห์อวกาศแห่งชาติ ปี 2566 โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีหัวข้อน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวอวกาศ เเต่ที่สำคัญมีผู้ประกอบการ กลุ่ม startup กลุ่มพัฒนานวัตกรรม รัฐ ธุรกิจ เอกชนด้านวิศวกรรมอากาศยานและการบิน การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ทำให้เห็นความคืบหน้า แนวทางส่งเสริมสนับสนุนการเกิดเศรษฐกิจอวกาศใหม่ของประเทศไทย (New space economy) 

Thailand Space Week 2023

ในช่วงที่ผ่านมาข่าวที่พบบ่อยเกี่ยวกับ SpaceX ของ Elon Musk , Blue Origin บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ก่อตั้งโดย เจฟฟ์ เบโซส์ และบริษัทเอกชนอื่นๆ ที่เปิดตัวจรวดและใช้งานกลุ่มดาวเทียม กิจกรรมเหล่านี้เคยเป็นงานหลักของหน่วยงานรัฐบาล แต่ตอนนี้ทำได้ในภาคเอกชน เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ยาน New Shepard ของ Blue Origin

ภารกิจที่ง่ายขึ้นมาก ราคาถูกลง ต้นทุนที่ลดลงได้เปิดประตูสู่การเริ่มต้นธุรกิจใหม่และสนับสนุนให้บริษัทการบินและอวกาศที่จัดตั้งขึ้น ค้นหาโอกาสที่ครั้งหนึ่งเคยดูเหมือนแพงเกินไปหรือยากเกินไป โดย ค่าใช้จ่ายในการปล่อยจรวดหนักในวงโคจรโลกต่ำ (LEO) ลดลงจาก 65,000 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม เหลือ 1,500 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม (ในปี 2021 ดอลลาร์) ซึ่งลดลงมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์

ความสนใจให้ของนักลงทุน ส่งผลให้เงินทุนด้านอวกาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อย่างนปี 2021 เงินทุนภาคเอกชนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอวกาศมีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์และเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ประโยชน์ของเศรษฐกิจอวกาศ

ตั้งแต่การปล่อยสปุตนิก 1 ซึ่งถือเป็นปฐมบทแห่งยุคอวกาศ ปัจจุบันเศรษฐกิจอวกาศเข้ามาช่วยผ่าน บริการดาวเทียมการสื่อสาร ข้อมูล การรวบรวมและวิเคราะห์ภาพ บริษัทขนาดใหญ่ทำงานได้หลายอย่าง เช่น ตรวจสอบสินค้าคงคลังในสถานที่ห่างไกล ประชุมทางวิดีโอระหว่างประเทศ ผู้บริโภคใช้เทคโนโลยีดาวเทียมทุกครั้งที่ระบบนำทางออนไลน์ระบุตำแหน่งของตนเอง หรือเมื่อโทรออกระหว่างเที่ยวบิน จากพื้นที่ชนบทที่ไม่มีเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ 

จัดการปัญหาสภาพอากาศ

ดาวเทียมช่วยให้ผู้นำโลกจัดการกับความท้าทายทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจที่ยากจะแก้ไขได้  มีดาวเทียมมากกว่า 160 ดวง ติดตามโลกเพื่อประเมินผลจากภาวะโลกร้อนและตรวจจับกิจกรรมต่างๆ เช่น การตัดไม้ผิดกฎหมาย ให้ข้อมูลที่ช่วยให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเร่งด่วนเกี่ยวกับไฟป่า การกัดเซาะชายฝั่ง และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ

ดาวเทียม Landsat-8 โดย GISTDA

นาซ่าก็ใช้เครื่องมือที่ติดตั้งบนดาวเทียมเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับน้ำทะเล ไอน้ำ เมฆ น้ำแข็งในทะเลและบนบก และการตกตะกอน มานานกว่า 20 ปี

ความมั่นคงด้านอาหาร

ติดตามการพัฒนาพืชผลและภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นต่อการเก็บเกี่ยว เช่น ความแห้งแล้งหรือการรุกรานของแมลง โครงการ SERVIR ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง NASA และหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมถ่ายภาพโลกและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อช่วยรัฐบาลจัดการกับปัญหา รวมถึงการขาดแคลนอาหาร

ความมั่นคงของชาติ

รัฐบาลซึ่งมักทำงานร่วมกับบริษัทในภาคเอกชน สามารถใช้ภาพถ่ายและข้อมูลดาวเทียมเพื่อรับข้อมูลข่าวกรอง เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกองทหารหรือการติดตั้งระบบอาวุธ

แม้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจอวกาศจะสร้างมูลค่าได้มาก มูลค่าในอนาคตที่สำคัญอาจเกิดขึ้นจากการทำงานทั้งหมดในวงโคจร เช่น การบริการในวงโคจร การวิจัยและพัฒนา และการผลิต 

ที่มาข้อมูล