อว. ดันอวกาศสุดตัว จัดงาน Thailand Space Week ยิ่งใหญ่

25 ต.ค. 2566 | 17:46 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2566 | 17:56 น.

อว. ดันอวกาศสุดตัวอีกระลอก จัดงาน Thailand Space Week ยิ่งใหญ่ ศุภมาสฯ พร้อมผลักดันให้เป็นมหกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศของประเทศ หลังนักธุรกิจไทย-ต่างชาติตบเท้าเข้าร่วมงานเกินคาด

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA และบริษัท ไทยคม จำกัด พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรด้านอวกาศทั้งในและต่างประเทศ จัดงาน Thailand Space Week 2023 หรือ สัปดาห์อวกาศแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 ณ Plenary hall ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร และได้รับเกียรติจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน โดยมีเหล่าผู้ประกอบการ กลุ่ม startup กลุ่มพัฒนานวัตกรรม ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชนทางด้านวิศวกรรมอากาศยานและการบิน การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน

งาน Thailand Space Week ถือเป็นงานด้านอวกาศระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทยที่จะทำให้วงการอวกาศไทยได้รับความสนใจจากทั่วโลก และแสดงความพร้อมของประเทศไทยในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอวกาศ ภายในงานมีการจัดเสวนาโดยผู้นำองค์กรและหน่วยงานด้านอวกาศกว่า 35 sessions speakers ชั้นนำด้านอวกาศจากทั่วโลกมากกว่า 150 คน พร้อมการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศในรูปแบบนิทรรศการกว่า 30 บูธ ที่มารวมตัวกันอยู่ในงานนี้งานเดียว

ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของงาน Thailand Space Week คือ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย การพัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากอวกาศ การส่งเสริม Space Business ใน Global Value Chain การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศ การวิจัยและพัฒนาด้านอวกาศ และการพัฒนาบุคลากรด้านอวกาศ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนถึงความพร้อมของประเทศไทยที่จะกำหนดให้อวกาศเป็น New Growth Engine ของประเทศ

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเทคโนโลยีอวกาศ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ เพื่อให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ซึ่งกระทรวง อว. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลมาโดยตลอด

งาน Thailand Space Week 2023 หรือ สัปดาห์อวกาศแห่งชาติ ถือเป็นงานที่มีความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขั้นสูงของไทย เนื่องจากได้รับทราบจากทาง GISTDA ว่าเป้าหมายหลักของงานในปีนี้คือการนำเสนอการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศเพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งในเชิงสังคมและเชิงธุรกิจ รวมถึงบทบาทในด้านต่างๆ ของภาคธุรกิจและเอกชนที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศในมิติต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากกลุ่ม startup ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งในและต่างประเทศที่ตอบรับร่วมงานเป็นจำนวนมากที่จะใช้โอกาสจากงานนี้ในการแลกเปลี่ยนและ Update ข้อมูลด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศของโลกในปัจจุบัน รวมทั้งพูดคุยหารือเกี่ยวกับทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต

และที่สำคัญในวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2566 กระทรวง อว. ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ท่านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Space Beyond Borders: Thailand in the Global Value Chain การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอวกาศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบันอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ธุรกิจอวกาศไร้พรมแดนของโลกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว กิจการอวกาศประเทศไทยกำลังพัฒนาให้เชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าในระดับโลก หรือ Global Value Chain อีกด้วย

นางสาวศุภมาสฯ กล่าวอีกว่า กระทรวง อว. มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะให้งาน Thailand Space Week เป็นงานที่คนไทยและคนต่างชาติให้ความสำคัญและเฝ้ารอที่จะร่วมงานเป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับงาน IAC หรืองาน World Space Week หรืองาน Global Space and Technology Convention ของประเทศสิงคโปร์ ดังนั้น การที่เราจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องอาศัยกลยุทธ์ เทคนิค และสรรพกำลังมหาศาลที่จะหลอมรวมและเชื่อมโยงให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งสามารถทำได้ทันทีเพราะมีความสอดคล้องกับนโยบายของประเทศดังที่กล่าวมาแล้วในช่วงต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจและนักลงทุนได้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยที่จะกำหนดให้อวกาศเป็น New growth engine ของประเทศได้ 

ทั้งนี้ นางสาวศุภมาสฯ ยังได้กล่าวถึงฉากทัศน์แห่งอนาคตของเศรษฐกิจอวกาศในประเทศไทยว่า ประเทศไทยนับว่าอยู่ในกระบวนการแห่งความพยายามในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของเศรษฐกิจอวกาศเต็มรูปแบบ ตามบริบทความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ตลอดจนการแข่งขันของตลาดโลกที่สูงขึ้น มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจตามนโยบายของแผนแม่บทกิจการอวกาศแห่งชาติ 20 ปี ซึ่งปัจจุบันร่าง พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ ฯ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยในเบื้องต้นเห็นชอบในหลักการของกฎหมายแล้ว

ทั้งนี้ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมอวกาศของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สร้างมาตรฐานของกิจการอวกาศในประเทศไทย ตลอดจนดูเเลการประสานงานกับหน่วยงานอวกาศของต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการลงทุน สร้างรายได้ และการจ้างงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น ความพยายามในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทย ไม่ใช่เพียงแค่การครอบครองความมั่งคั่งหรือการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอวกาศโลก แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำพาประเทศให้ดีขึ้น โดยอาศัยกลไกการขับเคลื่อนและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีจากภาครัฐ และไอเดียจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ร่วมมือกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมรองรับผลกระทบจากพลวัตที่เข้มข้นในอนาคตอันใกล้

ทั้งนี้ อว. ในฐานะกระทรวงที่กำกับดูแลหน่วยงานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศอย่าง GISTDA จะเร่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อมุ่งแสวงหาโอกาสและเปิดรับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านอวกาศในภูมิภาคอาเซียน และไปสู่การเป็นประเทศผู้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศระดับโลกในอนาคต
 

ทางด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า เป็นเวลากว่าสองทศวรรษที่กระทรวง อว. โดย GISTDA ได้นำเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเชิงสังคม อาทิ การติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังภัยพิบัติ น้ำท่วม ฝุ่นควัน ไฟป่า การจัดการทรัพยากรป่าไม้ หรือการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อทำการเกษตร แต่มาในระยะ 2-3 ปีมานี้ เราพบว่า อุตสาหกรรมอวกาศเป็นหนึ่งในสาขาแห่งอนาคตที่มีความสำคัญและเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นอย่างมาก

โดยปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Space 3.0 หรือ ‘New Space’ ซึ่งเป็นยุคที่วิทยาการทางอวกาศถูกนำมาประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมและบริการอย่างแพร่หลาย เกิดเป็นระบบนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในหลายด้าน และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอวกาศมีความเกี่ยวโยงอยู่ในหลายภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจที่มีบทบาทในชีวิตประจำวัน เช่น การบริการส่งอาหาร Delivery ที่ทยอยเปิดตัวมากมายในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ข้อมูลภูมิสารสนเทศยังสามารถนำไปประยุกต์กับธุรกิจต่าง ๆ ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การประกันภัย, อุตสาหกรรมพลังงาน, การท่องเที่ยว, เทคโนโลยีด้านข้อมูล, การระบุตำแหน่งเพื่อบังคับทิศทางและการควบคุมทางไกล, ระบบโทรศัพท์ผ่านวีดีโอ, Wifi บนเครื่องบิน, รถยนต์ไร้คนขับ, การพยากรณ์สภาพอากาศ, การตรวจสอบปริมาณฝุ่น หรือระบบเกษตรอัจฉริยะ แม้แต่ธุรกิจดาวเทียมสื่อสารขนาดเล็กวงโคจรไม่ประจำที่, การให้บริการสถานที่ปล่อยจรวดอวกาศ (Space launching), การขุดหาทรัพยากรบนดาวเคราะห์ (Space mining) และการท่องเที่ยวอวกาศในอนาคต เป็นต้น ล้วนแล้วแต่มีส่วนเกี่ยวกับกับภาคธุรกิจทั้งสิ้น

ดร.ปกรณ์ฯ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อสนับสนุนธุรกิจและบริการมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งการเกิดขึ้นของ Startup และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนต่อยอดการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศเพื่อตอบโจทย์ยุคสมัย และสร้างรูปแบบใหม่ ๆ ในการให้บริการทางธุรกิจ ทำให้ตลาดเกิดการแข่งขันเชิงรุก เกิดการจ้างงานรูปแบบใหม่มากขึ้น ณ วันนี้ เทคโนโลยีอวกาศขยายการใช้ประโยชน์ไปสู่ภาคธุรกิจ เปิดโอกาสและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนานวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อต่อยอดใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย สามารถสร้างรายได้ ลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าทางเศษฐกิจ ตอบสนองความต้องการของสังคม ตลอดจนสามารถสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จนเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “เศรษฐกิจอวกาศ”

ดร.ปกรณ์ฯ ยังได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับจากเศรษฐกิจอวกาศว่า กิจการอวกาศกำลังเป็นสิ่งที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงดาวเทียม แต่เป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ต่อยอดจากการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศ ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยกำลังให้ความสนใจกับนวัตกรรมที่จะเข้ามาทดแทนหรือลดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิม ๆ เทคโนโลยีอวกาศจึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น เป็นยุคที่มนุษย์ได้รับประโยชน์มหาศาลจากดาวเทียมและจากสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจอวกาศ

ปัจจุบัน การแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศของแต่ละประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกเหนือไปจากมิติความมั่นคงของรัฐและสังคม ยังขยายไปถึงการแข่งขันด้านเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมอวกาศ โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA ได้ศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย ในปี 2019 ระบุตัวเลขรายได้อยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1.6 ล้านคน สร้างมูลค่าทางสังคมกว่า 5.8 พันล้านบาท และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2.9 หมื่นล้านบาท เรียกได้ว่าอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อน GDP ของประเทศ และส่งผลให้เกิดนวัตกรรมต่อยอดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน 

สำหรับงาน Thailand Space Week 2023 หรืองานสัปดาห์อวกาศแห่งชาติฯ จะมีไปตั้งแต่วันนี้จนถึงวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น. ณ Plenary hall 1-2 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ท่านใดที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://tsw.gistda.or.th/register/ หรืออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม >> https://tsw.gistda.or.th โดยไม่มีค่าใช้จ่าย