สดช. เปิดเวทีระดมความคิดเห็น ดันดิจิทัลคอนเท้นต์ หนุน Soft Power ไทย

24 ต.ค. 2566 | 14:25 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2566 | 14:42 น.

สดช. จัดเวทีระดมความคิดเห็น หนุน Soft power ไทย ผลักดันมาตรการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ครั้งแรก ดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถกประเด็นผ่านกระบวนการ Policy Lab

วันนี้ (24 ตุลาคม 2566) นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) ครั้งที่ 1 หัวข้อ “การประชุมระดมความคิดเห็น เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาและกำหนดโจทย์ที่ชัดเจนในการออกแบบนโยบายหรือมาตรการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเท้นต์  ด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ”

สดช. เปิดเวทีระดมความคิดเห็น ดันดิจิทัลคอนเท้นต์ หนุน Soft Power  ไทย

โดยมีนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาววรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาชน เข้าร่วม ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า จากการแถลงนโยบายรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม

สดช. เปิดเวทีระดมความคิดเห็น ดันดิจิทัลคอนเท้นต์ หนุน Soft Power  ไทย

โดยที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการปรับปรุงนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 - 2580) และโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัลในปี 2564 และ ปี 2566 เพื่อเป็นข้อริเริ่มทางนโยบายในการกระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลคอนเท้นต์ ซึ่งเป็นการนำร่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบเนื้อหาดิจิทัล (Digital Content) อย่างสร้างสรรค์ อันเป็นการธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของไทยให้สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน และสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศอีกด้วย

นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สดช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดการสร้างประโยชน์ในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติในรูปแบบ ดิจิทัลคอนเท้นต์ ให้เกิดการสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ

โดยมีกิจกรรมสำคัญ คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) สาขาเทคโนโลยี และสาขาสื่อมัลติมีเดีย สำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ภายใต้ธีม “Hackulture 2023 Illuminate Thai : อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล” และกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) เพื่อจัดทำมาตรการ/ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม

สำหรับการจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ ได้ดำเนินการผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ หรือ Policy Lab ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวความคิดในการพัฒนานโยบายสาธารณะในรูปแบบที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในทุกกระบวนการ ผ่านการร่วมคิด ร่วมเสนอแนะ และให้ความเห็นในการสร้างสรรค์นโยบายและนวัตกรรมเชิงนโยบายในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ประชาชน หรือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายอย่างแท้จริง และภายหลังจากที่ได้ข้อเสนอแนะดังกล่าวแล้ว สดช. จะนำข้อเสนอแนะฯ เสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติต่อไป