ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า ในยุคโลกาภิวัฒน์เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง งานวิจัยและนวัตกรรมกลายเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมไม่ถึง 2% ของ GDP เทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ในประเทศส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
ซึ่งในปัจจุบันมีกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กองทุนส่งเสริม ววน. เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ สร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบายสาธารณะไปใช้ประโยชน์ ให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน
กองทุนส่งเสริม ววน. มีเป้าหมายชัดเจน ด้วยการลงทุนด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร มุ่งเพิ่มสัดส่วนงบลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาของประเทศเป็น 2% ของ GDP ภายในปี 2580 ครอบคลุมการพัฒนาในทุกมิติ ได้แก่ “ด้านความยั่งยืน” โดยไทยตั้งเป้าหมาย SDG index เป็น 35 อันดับแรกของโลก ในปี 2570 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ GHG Net Zero ที่ 40% ในปี 2573
“ด้านเศรษฐกิจ” รัฐมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น BCG เศรษฐกิจสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่และเศรษฐกิจฐานราก
“ด้านการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม” มุ่งเพิ่มปริมาณและคุณภาพ เพื่อเป็นฐานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน พร้อมก้าวสู่อนาคต
“ด้านสิ่งแวดล้อม” ผลักดันให้ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างน้อย 20 จังหวัด
ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุน กสว. ในการบริหาร กองทุนส่งเสริม ววน. มีบทบาทสำคัญเป็น System Integrator ผู้เชื่อมโยงและบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบ ววน. ในทุกมิติ
รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ในปีนี้ได้จัดการประชุมชี้แจงเป้าหมายการสนับสนุนงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และแนวทางการจัดทำคำของบประมาณของหน่วยงานในระบบ ววน. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อให้หน่วยงานในระบบ ววน. มีความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบ แผน แนวทางการจัดสรรงบประมาณ มีข้อมูลพร้อมสำหรับการเตรียมการจัดทำคำของบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐานของหน่วยงาน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากองทุนส่งเสริม ววน. เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนระบบ ววน. ของประเทศ ให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืนใน 6 ด้าน คือ 1. ส่งเสริมการผลิตและพัฒนากำลังคน และยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม 2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ รวมถึงปัจจัยเอื้อที่สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม 3. ส่งเสริมให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศหรือโครงการลงทุนที่รัฐเห็นสมควรกำหนด เป็นกลไกของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 4. สนับสนุนการเพิ่มสมรรถนะในการเลือก การรับ การถ่ายทอด และการร่วมมือกับบุคคลหรือหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อให้ได้วิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และเหมาะสม 5. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม หน่วยงานอื่นของรัฐและเอกชน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาชุมชนและพื้นที่ และ 6. บุกเบิกการวิจัยขั้นแนวหน้าและการสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
“การปฏิรูประบบ ววน. ส่งผลให้เกิดการพัฒนากำลังคนด้าน ววน. ช่วยให้มีทักษะตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนานักวิจัยระดับต่าง ๆ กว่า 238,363 คน เพิ่มทักษะ Up-skills/Re-skills กว่า 544,371 คน ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าผลิตภัณฑ์หรือบริการด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) วิทยาการหุ่นยนต์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำนวน 567 ราย เกิดองค์ความรู้จากการวิจัยขั้นพื้นฐานและการวิจัยขั้นแนวหน้า เกิดโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อรองรับนวัตกรรมขั้นแนวหน้าที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนจากภาคเอกชน กว่า 415,322,361 ล้านบาท เกิดผลตอบแทนจากการลงทุนรายแผนงาน เฉลี่ย 2.98 เท่าคิดเป็นมูลค่าผลตอบแทนรวม 134,100 ล้านบาท จากการลงทุนรวม 45,000 ล้านบาท ในปี 2563 – 2565 ” ผอ.สกสว. กล่าวทิ้งท้าย