เปิดใจ ประธาน กสทช. รอรัฐบาลใหม่กาวใจเชื่อม 7 อรหันต์

26 ส.ค. 2566 | 07:24 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ส.ค. 2566 | 12:47 น.

ประธาน กสทช. ยอมรับหนักใจตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาบอร์ดมีความเห็นต่าง รอรัฐบาลใหม่เป็นกาวใจเชื่อมความสัมพันธ์ 7 อรหันต์ หลังปมขัดแย้งควบรวมทรู-ดีแทค ขยายวงสนับสนุนบอลโลก 600 ล้านบาท

ผ่านไปกว่า 1 ปี บอร์ด กสทช.จำนวน 7 คน ยังมีร่องรอยความขัดแย้ง เป็นเพราะต่างฝ่ายต่างยึดหลักกฎหมายเป็นข้ออ้างในการโหวตมติสำคัญๆ  ทำให้สำนักงาน กสทช. ไม่มีผลงานใหม่ที่จะขับเคลื่อนออกไป

อย่างไรก็ตามเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะหาทางออกแก้ปัญหาความคิดเห็นต่างของ บอร์ด กสทช. 7 คน ได้อย่างไรติดตามอ่านจากบรรทัดถัดจากนี้

ย้อนรอยปมร้าวบอร์ด กสทช.

นพ.คลินิก  ย้อนเรื่องราวว่า ภายหลังบอร์ด กสทช.จำนวน 5 คน ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 13 เม.ย.65 เรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ การควบรวม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค บอร์ดแปลความทางด้านกฎหมายต่างกัน โดยเฉพาะข้อถกเถียง เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 ขณะที่การควบรวมธุรกิจเป็นสิทธิของรัฐธรรมนูญกำกับดูแลโดยกระทรวงพาณิชย์ เรื่องดังกล่าวได้เข้าที่ประชุมจำนวน 9 ครั้ง เป็นวาระแจ้งเพื่อทราบการรวมธุรกิจ จนในที่สุดบอร์ด กสทช.มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมธุรกิจ

 

“หนักใจ ในการบริหารจัดการหลังจากเข้ามารับตำแหน่งมีการแปลความทางด้านกฎหมายแตกต่างกัน นอกจากเรื่อง ทรู กับ ดีแทค แล้วยังมีเรื่องนำเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กองทุน กทปส. ไปสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 600 ล้านบาทสนับสนุนฟุตบอลโลก และ ผู้ชมจำนวนมากไม่สามารถรับชมถ่ายทอดสดได้เนื่องจากติดลิขสิทธิ์จนกลายเป็นจอดำ สองประเด็นหลักกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปมปัญหา”

 

รอรัฐบาลใหม่เป็นกาวใจ

ที่ผ่านมาพยายามจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ก็ยังไม่เห็นผล  และ เชื่อว่าสักวันบอร์ด กสทช. มีความสมดุลเกิดขึ้น หากรัฐบาลจัดตั้งสำเร็จน่าจะมีอะไรใหม่ๆ ออกมาเชื่อมโยงบอร์ด กสทช.หาทางออกเพื่อแก้ไขร่วมกันได้

ส่วนกรณีมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ปิดประชุมกะทันหันเนื่องจากมีข้อถกเถึยงเรื่องโครงสร้างใหม่ และ ใช้เวลาการประชุมมากพอสมควร เลยสั่งปิดการประชุมน่าจะเหมาะสมเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในส่วนของการสรรหาเลขาธิการ กสทช.คนใหม่คาดว่าภายในปลายเดือนสิงหาคม หรือ เดือนกันยายนนี้ สามารถจะสรุปเลือกเลขาธิการ กสทช.ได้อย่างเป็นทางการ

ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการพิจารณารวมธุรกิจระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB คณะอุนกรรมการอยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนพฤศจิกายน 2566

 

นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.

 

ตั้ง “ดร.พิรงรอง” เป็นประธานอนุฯ OTT

สำหรับมาตรการกำกับดูแลแพลตฟอร์มการแพร่เสียงผ่าน บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือ OTT ล่าสุด บอร์ด กสทช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการให้บริการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยมีศาสตราจารณ์ ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. เป็นประธานคณะอนุกรรมการ พิจารณาในเรื่องนี้ กรณีของ OTT ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กฎหมายกำกับดูแลไม่ทันจึงไม่ได้กำหนดกรอบเวลาเอาไว้ ที่สำคัญกฎหมายยังไม่ระบุชัดเจนให้อำนาจหน่วยงานใดเป็นผู้บริหารจัดการในเรื่องนี้ การกำดูแลต้องเป็นนโยบายของรัฐบาล กับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส  ต้องมีคำสั่งการเป็นอำนาจลงมาเพื่อให้บทบาทและหน้าที่หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะ กสทช.ไม่สามารถออกประกาศเป็นอำนาจหน้าที่ของตนเองอาจจะถูกฟ้องร้องเพราะใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต

 แจงที่มา "One NBTC" 

ที่มาโครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้ชื่อ "One NBTC ของสำนักงาน กสทช.” ต้องบอกว่าโครงการนี้มีแรงบันดาลใจมาจากการไปประชุมระดับผู้แทนระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกสภาบริหาร ในระหว่างการประชุมสภาบริหารของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ประจำปี 2023 (2023 Session of the  Council)  มีคณะทำงานใหม่ที่จัดตั้งขึ้นมาพัฒนาไอทียู ขึ้นมาใหม่ เมื่อผ่านการทำงานมา 1 ปี จึงอยากปรับเปลี่ยนองค์กรจากระดับล่างสู่ระดับบน  อยากถามพนักงาน 2-3 เรื่อง ภารกิจในการปฏิบัติงาน งบประมาณ หากต้องการให้สำนักงาน กสทช. เป็นองค์กรดิจิทัล ควรเป็นอย่างไร  ยกตัวอย่างเช่น สายโทรคมนาคม สายกระจายเสียง และ การออกใบอนุญาต การกำกับดูแล หลังจากนี้อีก 5 ปีข้างหน้าภาระงานจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ต้องการให้พนักงานมองทิศทางอนาคตข้างหน้าหลังจากนี้ภายใน 5 ปี  พนักงาน กสทช.ทั้งหมด มีแนวความคิดและไอเดียอย่างไร เพื่อให้สำนักงานเป็นองค์กรดิจิทัล

บอร์ด กสทช. 7 คน มีดังนี้

5 คนแรกที่ได้รับโปรดเกล้าฯ

  • ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.
  • พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. (ด้านกิจการโทรคมนาคม)
  • ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. (ด้านกิจการกระจายเสียง)
  • นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ กสทช. (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)
  • รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. (ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.(ข) ด้านเศรษฐศาสตร์)

หลังจากนั้นโปรดเกล้าฯ กสทช.อีกจำนวน 2 คน คือ 

  • พล.ต.อ.ณัฐธร พราะสุนทร กรรมการ กสทช. (ด้านอื่น ๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ก) ด้านกฎหมาย)
  • รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม.